สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบหน้าบรรยากาศการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ชาติ หรือจี 7 ประกอบด้วยสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่รีสอร์ตชายทะเลคาร์บิส เบย์ ในแคว้นคอร์นวอลล์ ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ ระหว่างวันที่ 11-12 มิ.ย. โดยถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ที่ผู้นำโลกได้หารือกันต่อหน้า หลังจากต้องประชุมผ่านทางออนไลน์มาตลอด เนื่องด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

รายงานข่าวระบุว่า นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กระตุ้นบรรยากาศการประชุมเรียกร้องความเป็นเอกภาพ พร้อมทั้งสลัดภาพรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีแนวทางโดดเดี่ยวตนเองในสมัยของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะที่แหล่งข่าวอาวุโสในรัฐบาลสหรัฐฯเผยด้วยว่า นายไบเดนต้องการให้โลกเห็นว่าชาติอุตสาหกรรมชั้นนำจี 7 เป็นชาติที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ที่สามารถเผชิญความท้าทายที่ยากลำบากได้

นอกจากนี้ นายไบเดนยังต้องการให้ชาติพันธมิตรรวมตัวกันเพื่อรับมือกับนโยบายการทูตด้วยการแจกจ่ายวัคซีนของรัสเซียและจีน ไปจนถึงการวางแนวทางเพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานในภูมิภาคแอฟริกา เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศเหล่านั้น ต้องพึ่งพาเงินทุนจากรัฐบาลจีน เหมือนที่หลายประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชียกำลังเผชิญอยู่

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานด้วยว่า การประชุมครั้งนี้คาดว่าจะได้ผลสรุปด้วยการที่ชาติสมาชิกจี 7 ประกาศบริจาควัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 แก่ประเทศยากจน จำนวน 1,000 ล้านโดส ภายในกรอบเวลาปีนี้หรือยืดไปจนถึงปีหน้า แต่กรณีนี้ถูกโจมตีจากกลุ่มรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมทางวัคซีนว่า จำนวนดังกล่าวไม่เพียงพอสำหรับความต้องการ และช้าเกินไปทั้งที่มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสแล้วกว่า 3.7 ล้านคน เช่นเดียวกับมูลนิธิออกซ์แฟม อังกฤษ ที่มองว่า ต้องบริจาค 11,000 ล้านโดส ถึงจะเพียงพอต่อความจำเป็น

...

ก่อนหน้าการประชุม นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้หารือแบบทวิภาคีกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งผู้นำอังกฤษได้กล่าวตอกย้ำถึง “ความสัมพันธ์ที่ไม่อาจถูกทำลายลงได้” ระหว่างอังกฤษกับสหรัฐฯ ซึ่งผู้สื่อข่าวระบุว่าเป็นการเปลี่ยนถ้อยคำของผู้นำคนก่อนๆที่มักใช้คำว่า “ความสัมพันธ์พิเศษ” มานานหลายทศวรรษ โดยนายจอห์นสันอธิบายว่าเหตุที่ใช้คำนี้ เนื่องจากคำเก่าให้ความรู้สึกว่าอังกฤษเป็นเบี้ยล่างอเมริกา.