ในขณะที่การแสดงออกทางสีหน้าของคนเรานั้นมีบทบาทอย่างมากในการสร้างความไว้วางใจ แต่หุ่นยนต์ส่วนใหญ่ยังไม่อาจเลียนแบบมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทว่าการใช้หุ่นยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นในสถานที่ที่หุ่นยนต์และมนุษย์ต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด อย่างบ้านพักคนชราไปจนถึงโกดังหรือโรงงาน ความต้องการหุ่นยนต์ที่ตอบสนองได้ดีและมีใบหน้าเหมือนจริงก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน

แม้ว่าจะฟังดูง่าย แต่การสร้างใบหน้าหุ่นยนต์ที่น่าเชื่อถือนั้นนับเป็นความท้าทายที่น่ากลัวสำหรับนักพัฒนาหุ่นยนต์ แต่ในอีกไม่นานนี้ เราอาจได้เห็นหุ่นยนต์ที่แสดงสีหน้าสนองตอบกลับมาแบบมนุษย์ เมื่อนักวิจัยจากครีเอทีฟ แมชีนส์ แล็บ (Creative Machines Lab) ที่สถาบันโคลัมเบีย เอนจิเนียริ่ง ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งให้ความสนใจมานานกว่า 5 ปีในการสร้าง EVA ซึ่งเป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติรุ่นใหม่ ที่ทีมได้สร้างสมองโดยใช้เครือข่ายประสาทเทียมแบบดีพ เลิร์นนิ่ง (Deep Learning) คือวิธีการเรียนรู้อัตโนมัติด้วยการเลียนแบบการทำงานของโครงข่ายประสาทของมนุษย์ และออกแบบให้มีใบหน้าที่นุ่มนวล ตอบสนองต่อการแสดงออกของมนุษย์ที่อยู่ใกล้เคียงได้

EVA เป็นรูปปั้นครึ่งตัวแต่ใช้การเคลื่อนไหวบนใบหน้า แสดงอารมณ์พื้นฐานได้ 6 แบบคือความโกรธ ความขยะแขยง ความกลัว ความสุข ความเศร้าและความประหลาดใจ โดยใช้กล้ามเนื้อเทียมที่อาศัยการทำงานของสายเคเบิลและมอเตอร์ดึงไปยังจุดที่เฉพาะเจาะจงบนใบหน้า EVA เพื่อเลียนแบบการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อเล็กๆหลายที่ตามจุดต่างๆของผิวหนังและกระดูกตามแบบใบหน้ามนุษย์ได้.

Credit : Creative Machines Lab/Columbia Engineering

...