เพราะกระแสความนิยมของผู้บริโภคกำลังหันมาชื่นชอบโปรตีนที่ไม่ได้มาจากเนื้อสัตว์ เช่น เบอร์เกอร์ปลอดเนื้อวัว ไข่เจียวปลอดไข่ ไอศกรีมปลอดนม
นายบรูซ ฟรายริช ผู้อำนวยการสถาบัน กู้ด ฟู้ด ในสหรัฐฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตัวแทนรัฐบาลหลายประเทศที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิต นักวิทยาศาสตร์ พ่อค้าผู้ประกอบการ และนักลงทุน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเชิงก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กับสินค้าเพื่อบริโภคให้กับนักมังสวิรัติรุ่นใหม่
โดยบริษัทฟาสต์ ฟู้ด รายใหญ่อย่าง เบอร์เกอร์ คิง ก็ล่วงหน้าไปก่อนแล้วกับการนำเสนอเมนูปลอดเนื้อที่ชื่อว่า “อิมพอสซิเบิ้ล ว็อบเปอร์” แม็คโดนัลด์ ก็ไปทำงานร่วมกับบริษัท เนสเล่ คิดค้นเบอร์เกอร์จากพืชผักที่ปลูกเอง แม้แต่บริษัท ไทสัน ซึ่งตั้งอยู่ที่รัฐอาร์คันซอ ในสหรัฐฯ ประกาศเข้าถือหุ้น นิว เวฟ ฟู้ดส์ สตาร์ทอัพ ในเมืองซานฟรานซิสโก ที่พัฒนาเนื้อกุ้งเทียมที่ทำจากสาหร่ายกับโปรตีนจากถั่วเหลือง ต่อไปก็จะทำเนื้อปูและกุ้งลอปสเตอร์เทียม
บริษัท โครเกอร์ ซุปเปอร์มาร์เกตที่มีเครือข่ายสาขาใหญ่อันดับ 2 ในสหรัฐฯ ก็ออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่ปลอดเนื้อ แล้วขายภายใต้แบรนด์ “ซิมเปิ้ล ทรูธ” จำหน่ายหลายอย่างตั้งแต่เบอร์เกอร์ไปถึงซอสเนื้อโบลองเนส
แต่อุปสรรคสำหรับการผลิตให้ดูสมจริงได้รสชาติเนื้อแท้ยังเป็นโจทย์ใหญ่ รวมถึงเรื่องราคาและปัจจัยอื่น ทั้งการวางสินค้าตามร้านค้าและบนเมนูตามร้านอาหาร อีกทั้งอุปสรรคใหญ่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ข้อวิพากษ์ วิจารณ์การทำเบอร์เกอร์จากพืชผักที่ปลูกไม่ใช่ทางเลือกของสุขภาพ
เพราะกรรมวิธีการทำที่มีเครื่องปรุงกว่า 20 ชนิดนั้นมีปริมาณเกลือค่อนข้างสูง หลายรัฐในสหรัฐฯยังผ่านข้อกฎหมายห้ามผู้ค้าปลีกที่ขายเนื้อทางเลือกติดฉลากดูเหมือนว่าเป็น “เนื้อ” อีกด้วย
...
ไม่ว่าจะอย่างไร ของไทยเราเองก็น่าภาคภูมิใจที่ ทีมวิจัยส่วนผสมฟังก์ชันและนวัตกรรมอาหาร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนจากจุลินทรีย์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
ทั้งคุณค่าทางโภชนาการทางโปรตีนนั้นเทียบเท่าจากไข่ แต่ไม่มีคอเลสเทอรอล และมีกรดอะมิโนที่จำเป็นครบ ซึ่งเตรียมต่อยอดไปในระดับกึ่งอุตสาหกรรมแล้ว...
ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ