โดยทั่วไปแล้วปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (dissolved oxygen-DO) ตามแม่น้ำและลำธาร สะท้อนให้เห็นถึงระบบนิเวศของพวกมันเนื่องจากสิ่งมีชีวิตบางชนิดผลิตออกซิเจนออกมา แต่ในขณะที่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ บริโภคมัน ออกซิเจนละลายในน้ำยังมีความแตกต่างกันไปตามฤดูกาล ระดับความสูง สภาพอากาศในท้องถิ่นของพื้นที่ก็ทำให้เกิดความผันผวนของออกซิเจนละลายในน้ำเช่นกัน
ว่ากันตามตรงก็คือสภาพอากาศจัดว่าเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของออกซิเจนละลายในน้ำ สภาวะทางอุทกวิทยา อุณหภูมิ และแสงแดด ต่างมีอิทธิพลต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำและสิ่งนี้จะส่งผลต่อระดับความเข้มข้นของออกซิเจนละลายในน้ำ ดังนั้น จะเป็นไปได้ไหมหากสามารถทำนายคุณภาพน้ำในแม่น้ำได้ด้วยข้อมูลสภาพอากาศ เพื่อลดทอนความยากลำบากและค่าใช้จ่ายในการเก็บตัวอย่างน้ำตามแหล่งน้ำในพื้นที่ห่างไกล เพราะบางแห่งอาจมีช่องว่างของข้อมูลทางเคมีของน้ำที่มีอยู่มานานหลายสิบปี
ล่าสุด ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตต หรือเพนน์ สเตต ในสหรัฐอเมริกา ได้นำเสนอการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (Artificial Intelligence-AI) พัฒนาแบบจำลองที่คาดการณ์ออกซิเจนละลายน้ำที่เป็นตัวบ่งชี้สำคัญของความสามารถของน้ำในการสนับสนุนชีวิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำทั่วสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ การทำนายคุณภาพน้ำจะช่วยเติมเต็มช่องว่างในข้อมูลและอาจนำไปสู่ความเข้าใจที่ดีขึ้นว่าแม่น้ำมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการรบกวนของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ.