ธันวาคม 2563 บริษัทน้ำมันแห่งชาติอิรักตัดสินเลือก China Zhenhua Oil Co., Ltd. บริษัทผู้ค้าน้ำมันดิบของรัฐบาลจีนเป็นผู้ชนะการประมูลการสัมปทานขายน้ำมันดิบ โดยจีนจ่ายเงินสดทันที 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯชำระค่าน้ำมันล่วงหน้า 1 ปี ทำให้รัฐบาลอิรักได้เงินมาใช้โดยไม่เสียดอกเบี้ย เงื่อนไขก็คือบริษัทน้ำมันแห่งชาติอิรักต้องส่งน้ำมันดิบวันละ 1.3 แสนบาร์เรลให้จีนเป็นเวลา 5 ปี ภายใน 1 ปี จีนจะได้น้ำมันจากอิรัก 48 ล้านบาร์เรล

อิรักกับอิหร่านทำสงครามกันนานถึง 8 ปี (พ.ศ.2523-2531) จบสงครามกับอิหร่านได้ 2 ปี อดีตประธานาธิบดีฮุสเซนก็ส่งกองทัพเข้ายึดคูเวตเมื่อเดือนสิงหาคม 2533 เรื่องยึดคูเวตทำให้สหประชาชาติลงมติที่ 678 ให้อิรักถอนทหารจากคูเวต ตามด้วยสหรัฐฯนำกองกำลังร่วมระหว่างประเทศโจมตีอิรักเมื่อ 6 มกราคม 2534 โดยใช้ชื่อสงครามนี้ว่า สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 1

จากนั้น สหรัฐฯก็เล่นงานอิรักมาตลอด จนกระทั่ง 20 มีนาคม 2546 สหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลียก็ร่วมกันทำสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 2 โดยไม่มีมติของสหประชาชาติ ข้อหาที่สหรัฐฯและพวกใช้เล่นอิรักก็คือ ครอบครองอาวุธร้ายแรง และให้การสนับสนุนกลุ่มอัลกออิดะห์

สหรัฐฯหยุดตีอิรักเมื่อ 1 พฤษภาคม 2546 หลังจากนั้นก็ตั้งรัฐบาลชั่วคราว และให้ศาลตัดสินประหารชีวิตอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ครอบครัวผมเดินทางเข้าอิรักบ่อย (พ.ศ.2544-2560) และมีชาวอิรักมาพักที่บ้านในกรุงเทพฯ เป็นประจำ ผมจึงทราบเรื่องที่อิรักถูกไถน้ำมัน ทั้งให้สหประชาชาติ ทั้งจ่ายเป็นค่าปฏิกรรม สงครามให้สหรัฐฯและพวก ขุดน้ำมันมาได้เท่าใด อิรักได้ใช้จริงประมาณร้อยละ 25 พวกตะวันตกมักจะโยนเงินให้อิรักกู้เอาไปใช้ขุดน้ำมันโดยคิดดอกเบี้ย ท้ายที่สุดแล้ว อิรักเสียน้ำมันดิบวันละหลายล้านบาร์เรล โดยที่เหลือเงินติดประเทศเพียงนิดเดียว

...

คอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลกเคยเขียนเรื่องนี้หลายครั้ง แต่หลายคนก็คิดว่าไม่น่าจะเป็นความจริง กระทั่งเมื่อ 23 พฤษภาคม 2564 ประธานาธิบดีบาร์ฮัม ซาเลห์ ของอิรัก แถลงข่าวว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2546 ที่สหรัฐฯเข้ามาบุกอิรัก รายได้เกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ (30 ล้านล้านบาท) ที่อิรักขายน้ำมันได้ ถูกปล้นไปจากประเทศประมาณ 1.5 แสนล้านดอลลาร์ (4.5 ล้านล้านบาท)

ประธานาธิบดีซาเลห์กำลังเสนอร่างกฎหมาย Corrupt Funds Recovery Act หรือร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการทวงคืนเงินทุนทุจริต โดยท่านต้องการจะทวงคืนเงินที่ถูกขโมยไปโดยการรวมหัวกันของรัฐบาลต่างชาติและองค์การระหว่างประเทศ

ไม่ใช่เฉพาะในอิรักเท่านั้น เคยมีผู้หลักผู้ใหญ่ของหลายประเทศเล่าถึงความไม่ชอบมาพากลของการลงนามระหว่างรัฐบาลกับบริษัทเอกชนต่างประเทศ พวกตะวันตกเข้ามากอบโกยทรัพยากรธรรมชาติโดยจ่ายเงินให้กับรัฐบาลเพียงนิดเดียว ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้อะไร ผู้นำรัฐบาลและทหารเพียงกลุ่มเล็กๆเท่านั้นที่รับผลประโยชน์จากพวกต่างชาติ

ถ้าบริษัทผู้ค้าน้ำมันดิบจากจีนไม่เข้ามาซื้อน้ำมันแบบจ่ายเงินสดล่วงหน้า รัฐบาลอิรักก็คงจะเผชิญกับสภาวะถังแตก ตั้งแต่มีวิกฤติโควิด-19 รายได้ของอิรักลดลง เศรษฐกิจอิรัก พ.ศ.2563 หดลงมากถึงร้อยละ 11 รัฐบาลต้องลดค่าเงินดินาร์ลงร้อยละ 20

ก่อนหน้านี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ แลกเงินได้ 1,182 ดินาร์ เมื่อเดือนธันวาคม 2563 อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างธนาคาร 1 ดอลลาร์สหรัฐฯเท่ากับ 1,460 ดินาร์ ลดค่าเงินมากถึงร้อยละ 20 เพราะต้องการเอื้อต่อการส่งออกน้ำมันและเพื่อกระตุ้นการผลิตภาคเอกชนกับท้องถิ่น แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก

การไปอิรัก 2 ครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2559 และ 2560 พ่อผมพบว่า คนจีนเข้าไปทำธุรกิจในอิรักกันมากขึ้น แม้แต่เมืองในชนบทก็ยังมีบริษัทจีนไปดำเนินธุรกิจ นี่เป็นความแตกต่างระหว่างนักธุรกิจจีนและตะวันตก รัฐบาลตะวันตกยึดอิรักได้จริง แต่ก็กอบโกยได้เฉพาะทรัพยากรธรรมชาติหลัก ส่วนรัฐบาลจีน เข้าไปให้ความช่วยเหลือทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ทำให้คนในต่างจังหวัดไว้ใจ และยอมให้เข้าไปทำธุรกิจ

แม้ว่าจะมีความขัดแย้งของชาวอิรักในท้องถิ่น ถึงขนาดมีการฆ่ากัน แต่ยังไม่เคยมีข่าวปรากฏว่าคนจีนถูกฆ่าตาย คนจีนเอาตัวรอดเก่ง.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com