- หลายประเทศในอาเซียน รวมทั้งไทยตกสวรรค์ จากที่เคยป้องกันการระบาดของโควิดในระลอกที่ผ่านๆ มาได้ดี กลับต้องมาเผชิญกับโควิดกลายพันธุ์ ส่วนไทยเจอครบ ล่าสุด พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์แอฟริกา
- องค์การอนามัยโลกเตือนมาก่อนหน้านี้ ทั้งโควิดสายพันธุ์อินเดีย-อังกฤษ-บราซิลและแอฟริกา เป็นเชื้อโควิด-19 ที่น่ากังวล ต้องเฝ้าระวังเพราะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น แพร่กระจายง่ายขึ้น และสามารถหลบเลี่ยงแอนติบอดีในร่างกายมนุษย์ได้
- CDC สหรัฐฯ เร่งศึกษาทำความเข้าใจความร้ายกาจของเชื้อโควิดกลายพันธุ์ รวมทั้งวิธีตรวจหาเชื้อ, ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19ในปัจจุบัน และวัคซีนที่ได้รับอนุมัติกันแล้วในขณะนี้จะปราบอยู่หรือไม่
หลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนทั้ง ไทย สิงคโปร์ กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม รวมไปถึงญี่ปุ่น และไต้หวัน กำลังเผชิญกับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงมากขึ้น หลังจากเคยได้รับคำยกย่องว่าสามารถรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ผ่านๆ มาได้ดี
ทำไมประเทศเหล่านี้จึงตกสวรรค์? คำตอบคงคล้ายกันคือ ยังฉีดวัคซีนต้านโควิดให้แก่ประชาชนเป็นอัตราส่วนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศ และยิ่งเมื่อมาเจอกับเชื้อโควิดกลายพันธุ์ ทั้งโควิดสายพันธุ์อังกฤษ โควิดสายพันธุ์อินเดีย และโควิดสายพันธุ์แอฟริกา ที่สามารถแพร่กระจาย ติดเชื้อได้เร็วขึ้น สามารถหลบเลี่ยงแอนติบอดีภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น จึงทำให้เกิดการระบาดอย่างหนัก มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก
ล่าสุดประเทศไทยของเรา มีการแถลงยืนยันพบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียที่คลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้างที่เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ก่อนไม่กี่วันต่อมา ก็พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธ์ุแอฟริกาแล้ว 3 ราย ที่อำเภอตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 64 จึงทำให้ขณะนี้ประเทศไทยของเรากำลังเผชิญหน้ากับเชื้อโควิดกลายพันธุ์ตัวร้าย ทั้ง เชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษ เชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดีย เชื้อโควิดสายพันธุ์บราซิล (พบในสถานกักตัวของรัฐ) และล่าสุด คือ โควิดสายพันธุ์แอฟริกา ที่องค์การอนามัยโลกได้จัดให้เป็นเชื้อโควิดสายพันธุ์ที่น่ากังวลระดับโลก
...
เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับโควิดกลายพันธุ์?
นับตั้งแต่พบการระบาดของเชื้อโควิดที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีนเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปี 2562 นั้นนักวิทยาศาสตร์พบว่าเชื้อโควิดได้กลายพันธุ์แล้วเป็นจำนวนพันๆ สายพันธุ์ที่กำลังระบาดทั่วโลก
เพราะการกลายพันธุ์ หรือการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม DNA หรือ RNA ของเชื้อไวรัสนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา และส่วนใหญ่เกิดการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งที่ไม่สำคัญ
สำหรับเชื้อโควิด-19 เหล่านี้ หากมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่สำคัญ นักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะเรียกว่า เป็นเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ที่น่ากังวล และต้องเฝ้าระวัง ซึ่งขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ที่น่ากังวล ได้แก่
-เชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดีย หรือสายพันธุ์ B.1.617 ขณะนี้ได้กลายพันธุ์ออกเป็น 3 สายพันธุ์ย่อย คือ B.1.617.1 - B.1.617.2 และ B.1.617.3 แต่สายพันธุ์ B.1.617.2 พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในขณะนี้
-เชื้อโควิดสายพันธุ์สหราชอาณาจักร หรือโควิดสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งเรียกว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์ B.1.1.7
-เชื้อโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือคนไทยเราเรียกสั้นๆ ว่า โควิดสายพันธุ์แอฟริกา หรือ B.1.351
-เชื้อโควิดสายพันธุ์บราซิล หรือเรียกว่า P.1
กลายพันธุ์ในตำแหน่งสำคัญ
เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์อังกฤษ-แอฟริกา และบราซิล เกิดการกลายพันธุ์ในบริเวณโปรตีนหนามรอบเซลล์ ที่ใช้ในการจับกับเซลล์ร่างกายของมนุษย์
เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียนั้น เป็นเชื้อโควิดที่พบการกลายพันธุ์คู่ หรือเกิดการกลายพันธุ์ในสองตำแหน่งของพันธุกรรม ซึ่งมีความสำคัญต่อศักยภาพในการจับกับเซลล์ร่างกายมนุษย์ โดยการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง L452R อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
ส่วนเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาและบราซิล มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งสำคัญ ที่เรียกว่า E484K ที่ทำให้อาจช่วยให้เชื้อโควิดหลบเลี่ยงแอนติบอดี ภูมิคุ้มกันในร่างกายของมนุษย์ได้
...
เชื้อโควิดกลายพันธุ์เหล่านี้อันตรายมากขึ้นหรือไม่?
ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยด้านสาธารณสุขทั่วโลกยังไม่พบหลักฐานว่าเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ทำให้ผู้ติดเชื้อจำนวนมากมีอาการป่วยรุนแรงมากขึ้นหรือไม่
ในขณะที่ เชื้อโควิด-19 ดั้งเดิมนั้น ทำให้ผู้สูงอายุที่ติดเชื้อมีความเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ก็เสี่ยงที่จะป่วยหนักหากติดเชื้อโควิด-19
แต่จากการที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์ทำให้เกิดการแพร่ระบาดติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ในขณะที่มีอันตรายพอๆ กันกับเชื้อดั้งเดิม (ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาวิจัยแน่ชัดถึงความร้ายแรงของเชื้อโควิดกลายพันธุ์) จึงทำให้พบการเสียชีวิตมากขึ้นในประชาชนที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
ศาสตราจารย์ คริส วิททีย์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่แพทย์ของอังกฤษ ชี้ว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดียที่พบผู้ติดเชื้อในอังกฤษแล้วกว่า 3,000 ราย สามารถแพร่ระบาดติดต่อได้ง่ายกว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษ
ในขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งชี้ว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษอาจมีส่วนทำให้เกิดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเสียชีวิตสูงขึ้นถึง 30% ทว่าหลักฐานในเรื่องนี้ยังไม่มีการสรุปแน่ชัด
ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษจึงออกข้อแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 เหมือนเดิม นั่นคือ ล้างมือบ่อยๆ มีการเว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย รวมถึงการระมัดระวังในเรื่องการระบายอากาศในสถานที่ต่างๆ
...
นักวิทย์กำลังเร่งศึกษาเชื้อโควิดกลายพันธุ์
ด้านศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษา ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโควิด-19 กลายพันธุ์เหล่านี้ และสาเหตุที่ทำให้เชื้อโควิดกลายพันธุ์เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
-สามารถติดเขื้อได้ง่ายขึ้นจากคนสู่คน
-ก่อให้เกิดอาการป่วยไม่รุนแรง และอาการรุนแรงมากขึ้นหรือไม่
-การตรวจสอบหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีที่ทำอยู่ในขณะนี้ยังได้ผลหรือไม่
-ตอบสนองต่อการใช้ยาต้านในปัจจุบันในการรักษาผู้ป่วย โควิด-19 หรือไม่
-เปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพของวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ได้รับการอนุมัติในขณะนี้หรือไม่
วัคซีนในขณะนี้ต้านโควิดกลายพันธุ์ได้หรือไม่
เมื่อ 23 พ.ค.64 กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษแถลงผลการศึกษาวิจัยของหน่วยงานสาธารณสุขของอังกฤษถึงประสิทธิภาพของวัคซีนต้านเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดีย พบว่า จากการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์/ไบออนเทค
พบว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยด้วยโรคโควิดสายพันธุ์อินเดีย หรือ B.1.617.2 ได้ถึง 88% เมื่อเทียบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษ หรือ B.1.1.7 ที่สามารถป้องกันได้ถึง 93%
...
ส่วนประสิทธิภาพของวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกา สามารถต้านโควิดสายพันธุ์อินเดียได้ 60% และสายพันธุ์อังกฤษได้ 66%
ทางรอดตอนนี้ CDC แนะป้องกันตัวเองให้พ้นจากโควิด
-ควรรับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เมื่อทางการสามารถจัดหาวัคซีนมาฉีดให้แก่คุณได้
-สวมหน้ากากอนามัยโดยให้ปิดจมูกและปากเพื่อป้องกันตัวเองและผู้อื่น
-ควรอยู่ห่างจากผู้อื่นที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับคุณ 6 ฟุต
-หลีกเลี่ยงการอยู่ในฝูงชน และระบบอากาศที่ไม่ดี รวมทั้งในอาคาร
-ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ ถ้าไม่มีให้ใช้เจลน้ำยาฆ่าเชื้อให้บ่อยๆ เท่าที่จะทำได้.
ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์