- ช่วงโรคโควิด-19 เริ่มระบาด ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ต้องระงับการผลิตชั่วคราว และคาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์จะหดตัวหลายเดือน จึงทำให้ยกเลิกคำสั่งซื้อเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิปใช้ในรถยนต์
- บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์จึงต้องเปลี่ยนทิศทางไปหาตลาดสมาร์ตโฟน แล็ปท็อป และเครื่องเล่นเกม
- เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และจีน พยายามกระตุ้นการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เอง เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมไม่ให้หยุดชะงักในช่วงที่ตลาดเซมิคอนดักเตอร์กำลังประสบภาวะขาดแคลน
ต้นปี 2020 โรคโควิด-19 เริ่มระบาด ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ เช่น เจเนอรัล มอเตอร์, ฟอร์ด และโฟล์กสวาเกน ระงับการผลิตชั่วคราว และคาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์จะหดตัวหลายเดือน จึงทำให้ยกเลิกคำสั่งซื้อเซมิคอนดักเตอร์หรือชิปใช้ในรถยนต์
บริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอร์ป (Taiwan Semiconductor Manufacturing Corp: TSMC) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่ใช้ใน 80 เปอร์เซ็นต์ของรถยนต์ทั่วโลก หันไปผลิตชิปสำหรับสมาร์ทโฟน แล็ปท็อป และอุปกรณ์เกมแทน
แม้เปลี่ยนทิศทาง แต่ยอดขายกลับพุ่งขึ้น ในช่วงล็อกดาวน์ TSMC ครองส่วนแบ่งการตลาดของชิปที่เล็กที่สุดกว่า 84 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เทคโนโลยีระดับโลกต่างๆ จากแอปเปิลในสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงอาลีบาบาของจีน
แต่ปรากฏว่าไตรมาสที่ 3 ของปี 2020 ยอดขายรถยนต์ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด ผู้ผลิตรถยนต์พยายามเริ่มเร่งการผลิต แต่โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์กลับผลิตไม่ทัน จากนั้นปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ก็ขยายไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ
หลายประเทศเริ่มตั้งเป้าเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์
นอกจากผลกระทบจากภาวะภัยแล้งและไฟฟ้าไม่เพียงพอของไต้หวัน ที่ทำให้กระบวนการผลิตไม่ราบรื่น ปัจจัยส่วนหนึ่งของการขาดแคลนชิปมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน ในปี 2019 ทำให้หนึ่งในผู้ซื้อชิปรายใหญ่ที่สุดคือ บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีจากจีนถูกสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำ บริษัทจึงเริ่มเตรียมตุนชิปไว้ล่วงหน้าจาก TSMC ซึ่งเป็นผู้ผลิตหลัก ด้านบริษัทอื่นๆ ก็สั่งจองชิปเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเช่นกัน เพราะกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนในห่วงโซ่อุปทาน
รัฐบาลหลายประเทศเร่งหาทางแก้ปัญหาเซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลน รวมถึงวางแผนว่าจะเป็นผู้นำตลาดชิปได้ในอนาคต
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกาประกาศว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งเพิ่มทุนเพื่อเป็นแรงจูงใจแก่ผู้ผลิตชิปภายในประเทศ เร่งจัดสรรงบประมาณเพื่อการวิจัยที่เกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์และคอมพิวเตอร์
ด้านเอกชน บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายความร่วมมือเซมิคอนดักเตอร์อเมริกา (Semiconductors in America Coalition: SIA) เรียกร้องให้มีการเพิ่มเงินลงทุนอีก 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อขยายการผลิตในประเทศ เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปที่ตั้งเป้าว่าจะผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้ได้ 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการผลิตโลกภายในปี 2030
ประเทศแถบเอเชียผลิตเซมิคอนดักเตอร์คิดเป็นสัดส่วน 70 เปอร์เซ็นต์ของโลก โดยเฉพาะไต้หวันและเกาหลีใต้ ผู้ผลิตชิปที่ใช้เทคโนโลยีความสามารถระดับสูง
อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ หนึ่งในประเทศผู้ผลิตรถยนต์ เช่น ฮุนได มอเตอร์, จีเอ็มโคเรีย และ ซางยอง มอเตอร์ (SsangYong Motor) ระงับการผลิตรถยนต์ชั่วคราว เพราะขาดแคลนชิป เพราะเกาหลีใต้เป็นผู้ผลิตชิปประเภทเมมโมรีมากที่สุดในโลก แต่ผลิตชิปประเภทลอจิกน้อยกว่ามาก ขณะที่บริษัท TSMC ไต้หวันเป็นผู้ผลิตชิปประเภทลอจิก จำพวกซีพียู จีพียู ไมโครโพรเซสเซอร์ชนิดต่างๆ รวมทั้งชิปที่ใช้ในรถยนต์มากที่สุดในโลก
วันที่ 13 พฤษภาคม 2021 รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมเกาหลีใต้หารือกับตัวแทนของผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ เพื่อเตรียมประกาศยุทธศาสตร์ที่ผลักดันให้เกาหลีใต้เป็นศูนย์กลางการผลิตของโลกภายใต้ชื่อ ‘K-semiconductor Belt Strategy’ พร้อมทั้งประกาศทุ่มเงินลงทุนกว่า 450,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อทำให้เกาหลีใต้เป็นผู้นำตลาดเซมิคอนดักเตอร์ของโลก
รัฐบาลพร้อมสนับสนุนธุรกิจเอกชน 153 บริษัท ซึ่งรวมถึงซัมซุงและ เอสเคไฮนิกซ์ สองบริษัทยักษ์ใหญ่ด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ยังเสนอแรงจูงใจผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ด้วยการลดภาษี ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และสำรองน้ำสำหรับการผลิตให้เพียงพอ
...
เซมิคอนดักเตอร์และภูมิศาสตร์การเมืองโลก
แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะจำกัดกระบวนการผลิตอยู่เฉพาะในประเทศใดประเทศหนึ่ง ห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์นั้นซับซ้อนพัวพันกับองค์ประกอบต่างๆ มากมายตั้งแต่การออกแบบ ไปจนถึงกระบวนการผลิตแผ่นเวเฟอร์และการทดสอบ วัตถุดิบในการผลิตไปจนถึงการบรรจุ
ตัวอย่างเช่น การออกแบบชิปในสหรัฐอเมริกาอาศัยการทำงานร่วมกับสหราชอาณาจักรและบริการจากอินเดีย โรงงานผลิตแผ่นซิลิกอนไต้หวันใช้วัตถุดิบจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ประกอบรวมกันที่มาเลเซีย ซึ่งต้องใช้ของจากประเทศอื่นในเอเชีย ทดสอบสินค้าในเกาหลีใต้ โดยใช้ซอฟต์แวร์และอุปกรณ์จากอิสราเอลและสหรัฐอเมริกา
เพราะเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบที่เปรียบได้กับสมองของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ตั้งแต่รถยนต์ อุปกรณ์สื่อสารไปจนถึงการผลิตยานอวกาศ ทำให้อุตสาหกรรมนี้เกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์การเมืองด้วย โดยเฉพาะ TSMC จากไต้หวันในฐานะที่เป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่และเป็นผู้เล่นทางการเมืองระหว่างประเทศที่สำคัญ
ปัจจุบัน TSMC มีโรงงานการผลิตในเมืองนานจิง ประเทศจีน ซึ่งเพิ่งลงทุนเพิ่ม 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อขยายการผลิต ความเคลื่อนไหวของ TSMC สร้างความกังวลว่า เทคโนโลยีในการผลิตชิปของไต้หวันอาจรั่วไหล
จีนเป็นประเทศที่นำเข้าเซมิคอนดักเตอร์มากที่สุดในโลก และกำลังพยายามผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของตนเองให้ได้ เพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก แม้ว่าปัจจุบันจีนยังไม่สามารถผลิตชิปขนาด 5 นาโนเมตรที่ใช้ในอุปกรณ์รุ่นใหม่ที่ TSMC และซัมซุงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอยู่ก็ตาม
ผลการสำรวจผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์จีนของ Nikkei Asia เมื่อเดือนมีนาคมพบว่า คำสั่งซื้อทั้งหมดเป็นชิปขนาด 14 และ 28 นาโนเมตร ผลกระทบจากการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาทำให้ยอดขายชิปขนาด 14 และ 28 นาโนเมตร ของ เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล (Semiconductor Manufacturing International Corporation: SMIC) ของจีน ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิปที่มีรายได้เป็นอันดับที่ 5 ของโลกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2020 ลดจาก 14.6 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 5 เปอร์เซ็นต์ ของยอดขายทั้งหมด จีนจึงตั้งเป้าว่าภายในปี 2025 จะผลิตเซมิคอนดักเตอร์เองให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์
ขณะเดียวกัน TSMC ซึ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มเครือข่ายความร่วมมือเซมิคอนดักเตอร์อเมริกา มีแผนสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ใหม่ในรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ด้วยเงินลงทุน 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สมาชิกของกลุ่มนี้มีทั้งแอปเปิล กูเกิล อินเทล และผู้ผลิตรายสำคัญในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์จากเอเชียและยุโรปด้วย
ทั้งหมดมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา วิจัยและผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง เพื่อใช้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญและความมั่นคงของชาติ
ทั้งนี้ ชิปที่ผลิตในจีนเป็นแบบ 28 นาโนเมตร ซึ่งเก่ากว่าโรงงานผลิตชิปที่จะสร้างในแอริโซนาที่เป็นแบบ 5 และ 3 นาโนเมตร TSMC จึงวางตัวเองเป็นผู้ผลิตที่สหรัฐอเมริกาและจีนขาดไม่ได้
ห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์ชนิดที่ผลิตโดย TSMC หรือดีกว่านี้ต้องอาศัยเงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีโรงงานเฉพาะ และมีแรงงานที่มีทักษะสูง ผู้ผลิตรายใหม่จึงเกิดขึ้นได้ยาก
ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากการเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องใช้อัจฉริยะต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เครื่องล้างจานไปจนถึงการเติบโตของคลาวด์คอมพิวติ้งและการขุดเหมืองคริปโต แต่กำลังการผลิตที่ยังไม่เพียงพอทำให้นักวิเคราะห์คาดว่า สถานการณ์ขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์จะยังลากยาวไปจนถึงปี 2023