• ปริศนาต้นกำเนิดเชื้อโควิด-19 อาจหลุดจากห้องแล็บอู่ฮั่น กลายเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อกลุ่มนักวิทย์ผู้เชี่ยวชาญนานาชาติส่งจดหมายถึงวารสารวิทยาศาสตร์ 'คิดต่าง' จาก WHO
  • นักวิทย์ ชี้ ทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับการที่เชื้อโควิด-19 อาจหลุดออกมาจากห้องแล็บโดยบังเอิญ และเชื้อไวรัสจากสัตว์ได้แพร่ระบาด ยังคงมีความเป็นไปได้
  • ทางการสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอีกหลายประเทศ เสนอตั้งทีมอิสระตรวจสอบหาต้นกำเนิดเชื้อโควิด-19 โดยไม่ถูกอิทธิพลใดๆ แทรกแซง

เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรงมานานนับปีครึ่ง คร่าชีวิตผู้คนราวกับใบไม้ร่วงไปแล้วกว่า 3.34 ล้านศพ มีชาวโลกได้รับผลกระทบเป็นพันๆ ล้านคน และสูญเสียรายได้ไปมหาศาลหลายล้านล้านดอลลาร์จากการระบาดครั้งใหญ่ของโรคระบาดอุบัติใหม่ 'โควิด-19'

ทว่าเรื่องสำคัญที่ยังเป็นปริศนา และนักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้คำตอบที่แน่ชัด ก็คือ ยังไม่รู้ว่าต้นกำเนิดแท้จริงของเชื้อโควิด-19 นั้นมาจากไหนกันแน่?

ท่ามกลางการพยายามไขคำตอบของบรรดานักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาทั่วโลก และแล้วประเด็นนี้ได้กลายมาเป็นเรื่องที่สร้างความสนใจให้แก่ผู้คนทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อมีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ จำนวน 18 คน ขอ 'คิดต่าง' จากทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO)

นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้ได้ส่งจดหมายไปลงในวารสารวิทยาศาสตร์ (Journal Science) เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุว่า 'ไม่ควรตัดความเป็นไปได้ในทฤษฎีที่คาดว่าเชื้อโควิด-19 อาจมีต้นกำเนิดมาจากห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน' และควรมีการศึกษาในเรื่องนี้เพิ่มเติม

...

ไม่เชื่อมั่นในรายงานขององค์การอนามัยโลก

นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ 18 คน จากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา และสวิตเซอร์แลนด์ ได้ระบุในจดหมายที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า พวกเขายังรู้สึกไม่เชื่อมั่นในการค้นพบที่ระบุในรายงานขององค์การอนามัยโลก

นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้มีความเห็นว่า ทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับการที่เชื้อโควิด-19 อาจหลุดออกมาจากห้องแล็บโดยบังเอิญ และเชื้อไวรัสจากสัตว์ได้แพร่ระบาดออกไปนั้น ยังคงมีความเป็นไปได้ 

เนื้อหาบางส่วนในจดหมายระบุว่า ทฤษฎีต้นกำเนิดสองทฤษฎี ที่คาดว่า เชื้อไวรัสมาจากสัตว์และหลุดมาจากห้องแล็บนั้น ยังไม่ได้รับการพิจารณาอย่างมีความสมดุล ระหว่างที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลกได้เดินทางไปตรวจสอบที่เมืองอู่ฮั่น เนื่องจากเนื้อหาในรายงานขององค์การอนามัยโลกได้กล่าวถึงรายละเอียดของการถกกันเกี่ยวกับหลักฐานที่อาจเป็นไปได้ว่าเชื้อโควิด-19 อาจหลุดออกมาจากห้องแล็บโดยอุบัติเหตุ เพียงแค่ 4 หน้าเท่านั้น จากรายงานที่มีความหนาถึง 313 หน้า 

เดวิด เรลแมน นักวิทยาศาสตร์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยา จากโรงเรียนแพทย์ ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในสหรัฐฯ และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเขียนจดหมายนี้ที่ถูกนำลงตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ กล่าวกับนักข่าวบิสสิเนสอินไซเดอร์ว่า เขาคิดว่าทฤษฎีที่คาดว่าเชื้อโควิด-19 หลุดออกมาจากห้องแล็บนั้น ถูกยกเลิกอย่างเร่งรีบ โดยเฉพาะองค์การอนามัยโลกที่ไม่ได้ประเมินเรื่องนี้อย่างรอบคอบ

'พวกเรารู้สึกกังวลที่คนจำนวนมาก ซึ่งเดินทางไปที่นั่นด้วยความคิดเห็นส่วนตัวที่แรงกล้า โดยขาดหลักฐานสนับสนุนอย่างเพียงพอ' นายเรลแมน กล่าวเพิ่มเติม

ทีม WHO ยังไม่ได้แก้ไขรายงานการตรวจสอบห้องแล็บอย่างสมบูรณ์ 

องค์การอนามัยโลกได้ส่งทีมนักวิทยาศาสตร์เดินทางไปตรวจสอบหาต้นตอของเชื้อโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีน เมื่อต้นปี 2564 และได้ข้อสรุปว่า ดูเหมือนเชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดจากค้างคาวมาสู่คน โดยผ่าน 'สัตว์ตัวกลาง' ที่เป็นพาหะ ซึ่งบางทีอาจเป็นสัตว์ป่าที่เลี้ยงไว้ในฟาร์มในประเทศจีน

ทีมสืบสวนขององค์การอนามัยโลก ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจากจีน ชี้ว่า ข้อสงสัยที่ว่าเชื้อโควิด-19 หลุดรอดออกมาจากห้องแล็บที่สถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นนั้น 'ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้อย่างยิ่ง'

สำหรับคำถามต่างๆ เกี่ยวกับเชื้อโควิด-19 อาจหลุดออกมาจากห้องแล็บที่สถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นนั้น เนื่องมาจากที่นี่ถือเป็นห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่มีความปลอดภัยขั้นสูง โดยนักวิทยาศาสตร์ได้มีการทำงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา เพื่อเตรียมรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัสในตระกูลนี้ นับตั้งแต่ก่อให้เกิดการระบาดของโรค SARs (ซาร์ส) หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง

องค์การอนามัยโลก รายงานว่า สถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นได้ย้ายไปตั้งที่ใหม่เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งที่ตั้งใหม่อยู่ห่างจากตลาดค้าปลีกอาหารทะเล หัวหนาน แค่ประมาณ 8 ไมล์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจีนรายงานพบผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 รายแรก ที่เกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์การระบาดของเชื้อโควิดจากตลาดสดหัวหนาน ในเดือนธันวาคม 2562 และด้วยความใกล้ชิดของสถานที่สองแห่งนี้ จึงก่อให้เกิดความสงสัยถึงความเป็นไปได้ที่อาจเชื่อมโยงกัน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้องค์การอนามัยโลกได้สรุปในเบื้องต้นว่าเชื้อโควิด-19 ไม่ได้หลุดออกมาจากห้องแล็บอู่ฮั่น ทว่านายเทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกได้เคยกล่าวไว้ตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ว่า เรื่องนี้ควรมีการตรวจสอบเพิ่มเติม หลังจากทีมผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกได้ใช้เวลาอยู่ในห้องแล็บชีววิทยาความปลอดภัยขั้นสูงของสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นเพียงห้องละไม่กี่ชั่วโมง

...

ส่วนปีเตอร์ เบน เอ็มบาเรก นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดจากสัตว์ ยังกล่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อเดือนมีนาคมว่า เขาและเพื่อนร่วมงานที่สอบสวนเรื่องนี้ ยังไม่ได้มีการตรวจสอบ หรือแก้ไขรายงานอย่างสมบูรณ์เกี่ยวกับการตรวจสอบห้องแล็บต่างๆ รวมทั้งสถาบันไวรัสวิทยาเลย โดยนายเอ็มบาเรก กล่าวเสริมว่า ความเป็นไปได้ที่ว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจหลุดออกมาจากห้องแล็บไม่ได้รับความสนใจและทำงานอย่างลึกซึ้งในระดับเดียวกับสมมติฐานอื่นๆ

สหรัฐฯ ยุโรป หลายประเทศเรียกร้องตั้งทีมอิสระสอบสวน

ภายหลังทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลกเผยแพร่รายงานการตรวจสอบหาต้นกำเนิดเชื้อโควิด-19 ออกมาเมื่อเดือนมีนาคม 2564นั้น วอลล์ สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า ทางการสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ ได้เรียกร้องให้มีการตั้งทีมอิสระขึ้นมาสอบสวนหาต้นตอของเชื้อโควิด โดยปราศจากการถูกแทรกแซงและอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาติใด

นักวิทยาศาสตร์และผู้นำทางการเมืองจำนวนมากมีความเห็นว่า ทีมขององค์การอนามัยโลกขาดข้อมูลอย่างเพียงพอเกี่ยวกับเชื้อโควิด-19 อย่างเช่น การติดเชื้อในจีนก่อนที่จะมีรายงานพบการระบาด ซึ่งมีหลักฐานบ่งชี้ว่าเชื้อโควิดได้ระบาดในจีนเป็นเวลาหลายเดือน ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะรายงานพบผู้ป่วยด้วยโรคโควิดรายแรกต่อองค์การอนามัยโลก

...

จะว่าไปแล้ว ความสงสัยเกี่ยวกับต้นกำเนิดของเชื้อโควิด-19 อาจหลุดออกมาจากห้องแล็บในเมืองอู่ฮั่น เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมาข้ามปีแล้ว โดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐฯ สมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงกับมอบหมายให้เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองดำเนินการสืบสวนในเรื่องนี้กันเลยทีเดียว ก่อนที่ข่าวนี้จะเงียบไป และถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อกลุ่มนักวิทย์ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้ระบุว่า ยังไม่ควรตัดทฤษฎีเชื้อโควิด-19 อาจหลุดจากห้องแล็บในอู่ฮั่นทิ้ง.

ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์

ที่มา : Reuters, Businessinsider