ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและชนชั้นกำลังระบาดหนักไปทั่วโลก โดยหลังโค่นล้มผู้นำเผด็จการในอียิปต์และตูนิเซียประสบความสำเร็จ ได้ปลุกให้เกิดกระแสประท้วงต่อต้านรัฐบาลไปทั่วตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ไล่ตั้งแต่แอลจีเรีย, ซีเรีย, จอร์แดน, ลิเบีย, บาห์เรน, เยเมน ไปจนถึงอิหร่าน แต่ที่น่าช็อกยิ่งกว่าคือ แม้แต่ชาติมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของโลก เช่น อเมริกา ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำประชาธิปไตยจ๋า ที่มีความแอดวานซ์ที่สุดในเรื่องสิทธิเสรีภาพ และคุณภาพชีวิต ประชาชนก็ยังลุกฮือเดินขบวนประท้วงรัฐบาลจนลุกลามใหญ่โต

อันที่จริงแล้ว ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเริ่มต้นจากกลุ่มผู้ประท้วงเล็กๆ ที่มารวมตัวกันหลวมๆในสวนสาธารณะซุคคอตติ ไม่ไกลจากตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ย่านการเงินสำคัญของแมนฮัตตัน มหานครนิวยอร์ก ตั้งแต่เดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ภายใต้การนำของกลุ่มเอ็นจีโอต่อต้านลัทธิบริโภคนิยม “Adbusters” ซึ่งชูแคมเปญ Occupy Wall Street ประกาศยึดวอลล์สตรีท จนกลายเป็นประเด็นจี๊ดโดนใจชาวมะกัน ดึงดูดให้ผู้ประท้วงนับพันคนออกเดินขบวนไปตามท้องถนนใจกลางนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2011 และมีแนวร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเป็นหลักหลายหมื่น ที่มาปักหลักตั้งแคมป์รอบๆ วอลล์สตรีท เพื่อต่อต้านความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ, ประณามความโลภของกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ รวมไปถึงสกัดกั้นกลุ่มอิทธิพลวอลล์สตรีท ที่คอยชักใยนักการเมืองมานาน

แม้ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก “ไมเคิล บลูมเบิร์ก” จะประกาศไว้ตั้งแต่แรกว่า ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะประท้วง และหากพวกเขาต้องการแสดงพลัง ทางการนิวยอร์กก็พร้อมอำนวยความสะดวกเต็มที่ กระนั้น เมื่อเหตุการณ์ลุกลามใหญ่โตเกินควบคุม ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและตำรวจเข้าสกัดกั้นการบุกรุกสถานที่ราชการสำคัญ ล่าสุดยังใช้สเปรย์พริกไทยสลายการชุมนุม และจับกุมกลุ่มผู้ประท้วงหลายร้อยชีวิต ที่ปิดกั้นการจราจรสะพานบรู๊คลิน

ภายในเวลาไม่กี่อาทิตย์ แคมเปญประกาศยึดวอลล์สตรีทกลายเป็นปรากฏการณ์ใหญ่ที่ระบาดไปทั่วเมืองสำคัญๆของอเมริกา และทำท่าว่าจะไม่ยุติลงง่ายๆ ทั้งในบอสตัน, ชิคาโก, ดัลลัส, เดนเวอร์, ฮิวส์ตัน, ไอโอวาซิตี, แคนซัสซิตี, ลอสแอนเจลิส, ไมอามี, ฟิลาเดลเฟีย, โอเรกอน, ซานดิเอโก, ซานฟรานซิสโก, ซีแอตเติล และวอชิงตัน ดี.ซี. ต่างก็มีกลุ่มผู้ประท้วงหลายหมื่นหลายพันคนออกเดินขบวนเพื่อร้องหาความเป็นธรรม ล่าสุดยังมีการรณรงค์ผ่านเครือข่ายเฟซบุ๊ก กำหนดให้วันที่ 15 ต.ค.นี้ เป็นดีเดย์นัดรวมพลกลุ่มผู้ประท้วงในเมืองใหญ่ๆของ 25 ประเทศทั่วโลก เพื่อยึดศูนย์กลางการเงินสำคัญและตลาดหุ้น โดยมีอังกฤษ, อิตาลี, สเปน, ออสเตรเลีย และแคนาดารวมอยู่ด้วย

ทำไมการประท้วงของคนไม่กี่หยิบมือ จึงบานปลายใหญ่โตกลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของ ประชาชนคนรากหญ้าอเมริกา ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ได้มีการเขียนบทความวิเคราะห์ไว้ในบลูมเบิร์กอย่างน่าสนใจ โดย “แดเนียล คูเซรา” และ “คริสติน ฮาร์เปอร์” ชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ ที่เทียบกันไม่ได้เลยระหว่างเทรดเดอร์ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท กับอาชีพสำคัญอื่นๆที่มีคุณูปการต่อสังคม

มีการเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าเทรดเดอร์ในวอลล์สตรีททำเงินได้สูงกว่าหมอผ่าตัดสมองหลายเท่าตัว และใช้ชีวิตอู้ฟู่เกินกว่าจะบรรยายไหว โดยยกตัวอย่างเทรดเดอร์ค้าน้ำมันระดับซีเนียร์ สามารถทำรายได้เข้ากระเป๋าปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่พวกนายแบงก์วาณิชธนกิจหาเงินได้เหนาะๆปีละ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ...มันช่างน่าช้ำใจจริงๆ เมื่อวัดกับผลตอบแทนเพียง 6 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ที่หมอผ่าตัดสมองเก่งๆในอเมริกาได้รับในแต่ละปี เพื่อแลกกับการทุ่มเทมันสมองช่วยชีวิตผู้คน

และแม้ชนชั้นกลางส่วนใหญ่ในอเมริกาจะมองว่าอาชีพเทรดเดอร์ในตลาดหุ้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สร้างสรรค์ใดๆกับสังคม นอกจากมุ่งกอบโกยผลประโยชน์ให้คนรวยๆ พวกเทรดเดอร์ในวอลล์สตรีทกลับคิดเข้าข้างตัวเองว่าพวกเราทำงานหนักและแบกรับความเครียดมากกว่าคนอาชีพอื่น ที่จริงแล้วต้องได้รับค่าตอบแทนสูงกว่านี้ด้วยซ้ำ

ถ้าอยากรู้ซึ้งถึงกึ๋นว่าวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ครั้งใหญ่ในอเมริกา ที่ลุกลามเมื่อปี 2008 และยังปะทุมาถึงทุกวันนี้ เกิดจากฝีมือใคร ต้องไปหาภาพยนตร์กึ่งสารคดีรางวัลออสการ์ปีล่าสุด “Inside Job” มาชมกัน เมื่อได้เห็นกระบวนการฮั้วของผู้ทรงอิทธิพลในวอลล์สตรีทกับนักการเมืองมะกันที่สมรู้ร่วมคิดกันจับแพะชนแกะเพื่อหาประโยชน์ให้ตัวเอง คงไม่สงสัยว่าทำไมรากหญ้าอเมริกันชนจึงลุกฮือ!!

...

มิสแซฟไฟร์