หลังการระบาด โควิด-19 รอบที่สาม และการสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจด้วยวัคซีน ยังไปไม่ถึงไหน คาดว่าจีดีพีของประเทศปีนี้จะเหลือแค่ประมาณร้อยละ 1 ความเสียหายทางเศรษฐกิจ จะติดลบประมาณ 8.9 แสนล้านบาท ในขณะเดียวกัน การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่ต้องใช้เวลาให้สั้นที่สุด มีเพียงความหวังเดียวคือ วัคซีน ถ้าฉีดวัคซีนให้มากเข้าไว้ มีวัคซีนใช้ในประเทศให้มากเข้าไว้ จะเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด

ซึ่งเมื่อเทียบราคาวัคซีนทุกชนิดที่มีอยู่ในเวลานี้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดเพราะวิกฤติโควิด-19 ทำให้บริษัทยาไม่สามารถที่จะกำหนดราคายาให้แพงเกินจริงได้ ชนิดดีที่สุด แพงที่สุดก็อยู่แค่ประมาณโดสละ 20 เหรียญ ซึ่งถ้าเป็นเหตุการณ์ปกติราคาจะแพงกว่านี้หลายเท่าตัว เพราะฉะนั้นเมื่อเทียบกับ ความเสียหายทางเศรษฐกิจ กับที่เราอาจต้องซื้อวัคซีนเพิ่มขึ้น เป็นเงินประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาทต่อวัคซีนประมาณ 100 ล้านโดส ถือว่าคุ้มค่ามากที่สุด ถึงจะมีข้อสังเกตว่า วัคซีนในระยะที่ 2 นี้ อาจมีประสิทธิภาพลดลงในปีหน้า เพราะการพัฒนากลายพันธุ์ของโควิด แต่คาดว่าในระยะเวลา 3 ปีจากนี้ไป วิกฤติไวรัสโควิด-19 จะยังไม่สะเด็ดน้ำ และการพัฒนาของวัคซีนก็คงจะยังไม่ก้าวล้ำไปกว่านี้มากนัก

เซาท์ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ มีรายงานว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรกของ ฮ่องกง ที่ประเมินจาก การส่งออก ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 30.6 การนำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่การบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เท่านั้น จึงเป็นไปตามที่นักเศรษฐศาสตร์ของฮ่องกง ระบุว่า อนาคตเศรษฐกิจของฮ่องกง ขึ้นอยู่กับ อัตราการฉีดวัคซีน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่การเปิดประเทศ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และจะส่งผลถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภค นักธุรกิจฮ่องกง ออกมาผลักดันให้ มีการฉีดวัคซีนให้กับชาวฮ่องกงให้มากที่สุด และเร็วที่สุดด้วย หากยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ หลังจากที่โควิด-19 คลี่คลายแล้ว จะกลายเป็นผลกระทบที่หนักที่สุด

...

ฮ่องกงก็มีปัญหาคล้ายๆกับบ้านเราคือ การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างล่าช้า มีประชากรฮ่องกง ประมาณร้อยละ 12.6 ที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว 1 โดส และอีกร้อยละ 7.19 ได้วัคซีนครบ 2 โดสไปแล้ว (สำหรับการฉีดวัคซีนในประเทศไทย เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร เพิ่งจะฉีดไปได้ประมาณร้อยละ 0.4 น่าวิตกกว่าเยอะ)

ฮ่องกงมีปัญหาการรับวัคซีนของประชากร ต่างจากบ้านเราตรงที่ว่า ฮ่องกงมีวัคซีนที่จะฉีดให้กับประชากรอย่างเพียงพอ ไม่ว่า จะเป็น ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม มีเหลือเฟือ แต่ปัญหาคือ คนฮ่องกง ไม่มั่นใจที่จะเข้ารับวัคซีนมากกว่าจนต้องมีโครงการ วัคซีนบับเบิล คือให้ร้านอาหาร ผับ บาร์ สถานบันเทิง ให้บริการเฉพาะลูกค้าที่ได้รับวัคซีนแล้วเท่านั้น แต่ก็อย่างว่า ร้านค้ากลัวเสียลูกค้า ยิ่งในช่วงข้าวยากหมากแพง จึงไม่ค่อยจะมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการมากนัก เพราะคนส่วนหนึ่งก็จะโต้แย้งว่า เมื่อไม่ติดโควิด ไม่เสี่ยง ก็ไม่ควรถูกตัดสิทธิ์ในการใช้บริการในร้านอาหารกลายเป็นดราม่าไปฉิบ สุดท้าย ก็ต้องใช้มาตรการการเดินทางไปต่างประเทศ เช่น คนฮ่องกง ถ้าได้รับวัคซีนเรียบร้อยสามารถเดินทางไป สิงคโปร์ โดยที่ไม่ต้องกักตัวทั้งขาเข้าขาออก

สื่อญี่ปุ่นตีข่าวว่าประเทศไทยเกิดกระแสที่คนไทยตื่นตัวเข้าโปรแกรมท่องเที่ยวเพื่อไปฉีดวัคซีนในต่างประเทศ เนื่องมาจากการฉีด วัคซีนที่ล่าช้าของรัฐบาล งามหน้าไปสามโลก บอกแล้วว่าประเทศไทยไม่ใช่สนามเด็กเล่น.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th