ผู้นำฝรั่งเศสเรียกร้องให้สหรัฐฯ เลิกจำกัดการส่งออกวัคซีนต้านโควิด-19 รวมทั้งวัตถุดิบสำหรับผลิตวัคซีน เพื่อเพิ่มกำลังผลิตแก้ปัญหาวิกฤติวัคซีนขาดแคลนทั่วโลก
สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกข้อจำกัดการส่งออกวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 และวัตถุดิบสำหรับผลิตวัคซีน หลังก่อนหน้านี้จากสหรัฐฯ ออกมาสนับสนุนให้ผ่อนปรนความคุ้มครองในสิทธิบัตรของวัคซีนโควิด แต่ชาติยุโรปไม่เห็นด้วย
ตอนนี้ชาติยุโรปกับสหรัฐฯ กำลังมีความเห็นไม่ลงรอยกันในการหาวิธีที่ดีที่สุดเพื่อเพิ่มกำลังผลิตวัคซีนโควิดทั่วโลก โดยในปัจจุบัน มีวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาราว 1.25 พันล้านโดสถูกใช้งานไปแล้วทั่วโลก แต่ในจำนวนดังกล่าวมีไม่ถึง 1% ที่ตกถึงมือของประเทศที่ยากจนที่สุด 29 อันดับสุดท้ายของโลก
ในทางตรงกันข้าม ประเทศร่ำรวยกลับเพิ่มความเร็วในโครงการฉีดวัคซีนของตัวเอง สหราชอาณาจักรฉีดวัคซีนโดสแรกให้ประชากรไปแล้ว 67% ขณะที่สหรัฐฯ อยู่ที่ 56% ด้านสหภาพยุโรปเพิ่งทำข้อตกลงซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 ของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค จำนวน 900 ล้านโดสเมื่อวันศุกร์ และมีออปชั่นเสริมสามารถซื้อเพิ่มได้อีก 900 ล้านโดส
ความเหลื่อมล้ำนี้ทำให้เมื่อปีก่อน แอฟริกาใต้และอินเดีย ผลักดันเรื่องการผ่อนปรนความคุ้มครองสิทธิบัตร เพื่อให้ผู้ผลิตเจ้าอื่นๆ สามารถเข้าถึงวิธีผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อเพิ่มกำลังผลิตทั่วโลก แต่บริษัทผู้ผลิตและชาติยุโรปคัดค้าน ระบุว่า วิธีนี้เพียงอย่างเดียวไม่ช่วยเพิ่มกำลังผลิต และไม่ใช่ผู้ผลิตทุกเจ้าที่มีศักยภาพเพียงพอในการผลิตวัคซีน
แต่เมื่อวันพุธที่ 5 พ.ค. สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี ประกาศตัวสนับสนุนการผ่อนปรนสิทธิบัตร องค์การอนามัยโลกและพระสันตะปาปาฟรานซิส ก็ออกมาแสดงความสนับสนุนเช่นกัน
...
ในวันเสาร์มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้นำโลกผ่านวิดีโอคอลล์ โดยนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดียหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากผู้นำสหภาพยุโรป แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะผู้นำอียูยังคงกังขาว่า การผ่อนปรนสิทธิบัตรจะแก้วิกฤติการขาดแคลนวัคซีนได้หรือไม่ ขณะที่นายมาครงกล่าวว่า วิธีที่ดีที่สุดคือ การเพิ่มการส่งออกและการผลิต
“กุญแจสำคัญในการผลิตวัคซีนให้เร็วขึ้นสำหรับประเทศยากจนหรือประเทศขนาดกลางทุกชาติคือ การผลิตให้มากขึ้น” นายมาครงกล่าว และชี้เป้าไปที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้พวกเขาหยุดควบคุมการส่งออกทั้งวัคซีน และวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งเป็นการขัดขวางการผลิตด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯ ออกมาตรการจำกัดการส่งออกวัตถุดิบในการผลิตวัคซีนเพื่อใช้ในประเทศ แต่ตอนนี้พวกเขามีวัคซีนเพียงพอแล้ว ทำให้สหรัฐฯ ออกมาประกาศว่า จะบริจาควัคซีนแอสตราเวเนกาจำนวน 60 ล้านโดสที่พวกเขามีแต่ไม่มีการอนุมัติใช้งานภายในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
นอกจากสหรัฐฯ แล้ว นายมาครงยังกล่าวหาสหราชอาณาจักรว่าควบคุมการส่งออกวัคซีนโควิดเช่นกัน แม้นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน จะออกมาปฏิเสธก่อนหน้านี้ แต่ข้อมูลของรัฐที่สาธารณะสามารถเข้าถึงได้ชี้ว่า วัคซีนไม่ได้ถูกส่งออกจากสหราชอาณาจักรเลย