แพนดอร่าแบรนด์เครื่องประดับและจิวเวลรีชื่อดังสัญชาติเดนมาร์ก ประกาศเมื่อต้นสัปดาห์ว่าจะไม่ทำเครื่องประดับจากเพชรจากธรรมชาติที่ขุดได้จากเหมืองอีกต่อไป โดยจะเปลี่ยนไปใช้ “เพชรที่เพาะในห้องปฏิบัติการ” หรือ “เพชรสังเคราะห์” แทน แม้ว่าบริษัทจะใช้เพชรในการผลิตเครื่องประดับค่อนข้างน้อย โดยใช้เพชรที่ขุดได้จากธรรมชาติราว 50,000 ชิ้น จากผลิตภัณฑ์ทั้งหมดประมาณ 85 ล้านชิ้นที่ขายทั่วโลก

การประกาศครั้งนี้นับเป็นการเคลื่อนไหวที่มุ่งสร้างความยั่งยืนทาง “สิ่งแวดล้อมและจริยธรรม” มากขึ้น โดยบริษัทหวังว่าจะพลิกโฉมตลาดเครื่องประดับเพชรด้วย “ผลิตภัณฑ์ที่ราคาไม่แพงและถูกสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน” หลังจากเคยประกาศจะหยุดใช้ทองคำและเงินที่ขุดขึ้นใหม่ในเครื่องประดับภายในปี 2568 โดยจะใช้วัตถุดิบจากแหล่งรีไซเคิลเท่านั้น เพื่อให้
การดำเนินงานของบริษัทก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนใน 4 ปีข้างหน้า

แพนดอร่าก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2525 ในกรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก เติบโตขึ้นเป็นบริษัทข้ามชาติที่มีพนักงานมากกว่า 27,000 คน โดยประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ในเมืองไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตเพียงประเทศเดียวมาตั้งแต่ปี 2532 มียอดขายสูงถึง 250,000 ชิ้นต่อวัน เป็นผู้ผลิตอัญมณีอันดับ 1 ของโลกในแง่ของปริมาณ

คอลเลกชันเพชรสังเคราะห์ของแพนดอร่าเปิดตัวที่อังกฤษเป็นแห่งแรกในโลกเมื่อ 6 พ.ค. และมีแผนจะขยายไปยังตลาดหลักในประเทศอื่นๆในปีหน้า โดยคอลเลกชัน “แพนดอร่า บริลเลียนซ์” ที่ประกอบด้วยแหวน กำไล สร้อยคอ และต่างหู ที่มีขนาดตั้งแต่ 0.15-1 กะรัต มีราคาเริ่มต้น 250 ปอนด์ หรือราว 10,000 บาทเป็นต้นไป

...

แม้ว่ายอดขายเครื่องประดับเพชรทั่วโลกจะลดลง 15-20% ในปี 2563 จากวิกฤติโควิด-19 ทั่วโลก แต่ความต้องการเพชรที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพชรสังเคราะห์นั้นเป็นเพชรแท้ๆที่เกิดจากการเลียนแบบการเกิดเพชรตามธรรมชาติ ซึ่งใช้เวลาหลายพันล้านปี มีคุณสมบัติทางกายภาพ และเคมี ไม่ต่างจากเพชรแท้ตามธรรมชาติ เว้นแต่ว่าเพชรที่ถูกสร้างขึ้นจะไร้ตำหนิทางธรรมชาติ ผลิตตามมาตรฐานคุณภาพเพชรที่ประกอบด้วย สี ความสะอาด การเจียระไน และน้ำหนักกะรัต และที่สำคัญยังมีราคาที่ถูกกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยมีราคาเพียง 1 ใน 10 ของเพชรจากธรรมชาติ จึงดึงดูดฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่า ที่นอกจากจะด้วยปัจจัยทางการเงินแล้ว กลุ่มคนรุ่นใหม่ยังมีแนวโน้มใส่ใจต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนของแบรนด์ต่างๆอีกด้วย.

อมรดา พงศ์อุทัย