- ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในบราซิลพุ่ง ขณะที่หนทางที่บราซิลจะฉีดวัคซีนให้แก่คนหมู่มากภายในประเทศจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่นั้นยังคงอีกยาวไกล
- นายฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิล เมินคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญ และถูกกล่าวหาว่าล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤติโรคระบาด สภาคองเกรสของประเทศบราซิล ได้เริ่มต้นไต่สวนรัฐบาลในประเด็นรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ล้มเหลมเหลว
- จุดยืนการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจมากกว่าสาธารณสุขของนายโบลโซนารู ได้ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในบราซิลรุนแรงกว่าเดิม
เมื่อพูดถึงประเทศที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนักขณะนี้คงหนีไม่พ้นประเทศในเอเชียใต้อย่างอินเดีย และปากีสถาน แต่อีกประเทศที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างสาหัส และเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก คือ ประเทศบราซิล ที่ขณะนี้มีจำนวนผู้เสียชีวิตทะลุ 400,000 ศพ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขผู้เสียชีวิตที่มากกว่าประเทศอินเดียเสียอีก
ขณะเดียวกัน นายฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีของบราซิล ยังถูกมองว่าล้มเหลวในการรับมือกับโรคโควิด-19 โดยเมื่อย้อนกลับไปในปีที่ พ.ศ 2563 ในช่วงที่มีการระบาดในช่วงแรก นายโบลโซนารู แทบไม่เคยสวมใส่หน้ากากอนามัยต่อหน้าสาธารณชน พร้อมทั้งระบุว่าโรคโควิด-19 นั้นเป็นเพียงไข้หวัดที่แสนธรรมดา นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ และละเลยการระงับการแพร่ระบาดอย่างทันท่วงที หลังจากนั้น นายโบลโซนารู กลับติดโรคโควิด-19 เสียเอง แต่เมื่อได้รักการรักษาจนหายก็ยังไม่ให้ความสำคัญต่อระบบสาธารณสุขในประเทศเท่าที่ควร อีกทั้งยังเมินเฉยต่อคำเตือนต่างๆ ทำให้นายโบลโซนารู ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤติโควิด-19 และต่อต้านการประกาศล็อกดาวน์ นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนการใช้ยารักษาโรคที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ถูกมองว่าส่งผลให้บราซิลต้องเผชิญการแพร่ระบาดที่รุนแรง
...
ยอดตายทะลุ 4 แสน แซงหน้าอินเดีย
ยอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในประเทศบราซิล พุ่งทะลุ 400,000 ศพ โดยภายในเดือนเมษายน มีผู้เสียชีวิต มากถึง 100,000 ศพ กลายเป็นเดือนที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดของบราซิล ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญ คาดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ เกิดจากการที่ร้านค้าบางส่วนได้กลับมาเปิดให้บริการ และตัวเลขการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนที่ล่าช้า โดยบราซิลมีอัตราผู้ได้รับวัคซีนเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากร
จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในบราซิลนั้นสูงกว่าจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรมในปีที่แล้วกว่า 9 เท่า ซึ่งบราซิลนั้นถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีตัวเลขการฆาตกรรมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ขณะเดียวกัน รัฐบาลบราซิลก็ไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์อย่างเป็นทางการ และดูเหมือนจะต่อต้านการล็อกดาวน์ที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวเสียเอง ทำให้ผู้ว่าการของแต่ละรัฐที่มองเห็นวิกฤติอยู่ตรงหน้าได้ประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่แตกต่างกันไป
จัดซื้อวัคซีนล่าช้า เมินเฉยต่อคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญ
ถึงแม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ของบราซิลจะเริ่มชะลอลงบ้าง แต่การแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิด ในประเทศยังคงไม่ครอบคลุม ขณะที่รัฐบาลได้จัดหาวัคซีนล่าช้า และยังต้องเผชิญกับการขาดแคลนวัคซีน ซึ่งได้กลายเป็นหนึ่งเหตุผลที่นำไปสู่การไต่สวนการรับมือโรคโควิด-19 ของรัฐบาลบราซิลภายใต้นายโบลโซนารู
ด้านนาย Roberto Kraenkel จากหน่วยงานเอกชนที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ชี้ว่า หนทางที่บราซิลจะฉีดวัคซีนให้แก่คนหมู่มากภายในประเทศจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่นั้นยังคงอีกยาวไกล ซึ่งระหว่างนั้นอาจเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ได้ ขณะที่รัฐบาลบราซิลไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการกระจายวัคซีน รวมไปถึงการตรวจโรคเชิงรุกมากเท่าที่ควร
นอกจากนี้รัฐบาลบราซิลภายใต้นายโบลโซนารู ยังเมินเฉยต่อคำเตือนในเชิงวิทยศาสตร์นับตั้งแต่พบการแพร่ระบาดภายในประเทศ และให้ความสำคัญกับการพยุงเศรษฐกิจมากกว่าสาธารณสุขในประเทศ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นการเลือกให้ความสำคัญผิดจุด เนื่องจากเศรษฐกิจที่ดีนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเลข แต่ขึ้นอยู่กับผู้คน
ปธน.บราซิล ถูกไต่สวนรับมือโควิดล้มเหลว
...
หลายฝ่ายมองว่าจุดยืนของนายโบลโซนารู ที่ไม่สนข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ จัดหาวัคซีนล่าช้าและไม่ประกาศล็อกดาวน์ รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจมากกว่าสาธารณสุขในประเทศนั้น เป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในบราซิลรุนแรงกว่าเดิม ทำให้ นายฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิล ได้ถูกกล่าวหาว่าล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤติโรคระบาด ด้านสภาคองเกรสของประเทศบราซิล ได้เริ่มต้นไต่สวนรัฐบาล จากการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ล้มเหลว
ขณะที่ นายโบลโซนารู ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยระบุว่าการประกาศข้อบังคับต่างๆ ได้สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศมากกว่าวิกฤติโรคระบาด ล่าสุด บราซิล มีผู้ป่วยโควิด-19 สะสม 14.7 ล้านราย ถือเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 408,829 ศพ
ผู้เขียน: นัฐชา
...