คีร์กีซสถาน ปะทะทาจิกิสถาน ข้ามชายแดนครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 31 ศพ บาดเจ็บจำนวนมาก และคนนับหมื่นต้องอพยพ

สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า เหตุปะทะกันระหว่าง คีร์กีซสถาน และ ทาจิกิสถาน เริ่มขึ้นตั้งแต่คืนวันพุธที่ 28 เม.ย. 2564 เมื่อประชาชนของทั้ง 2 ฝ่ายขว้างปาก้อนหินเข้าใส่กัน หลังพบว่ามีกล้องวงจรปิดถูกนำมาติดตั้งที่อ่างเก็บน้ำและสถานีสูบน้ำ บนแม่น้ำอิสฟารา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ทั้ง 2 ฝ่ายแย่งชิงความเป็นเจ้าของ

แต่การปะทะกันเริ่มรุนแรงขึ้นทำให้กองกำลังชายแดนของทั้ง 2 ฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนร่วม และเริ่มยิงปืนเข้าใส่กันในวันพฤหัสบดี กระทั่งในช่วงเย็นวันเดียวกัน ก็มีการประกาศหยุดยิงเริ่มตั้งแต่ 20:00 น. อย่างไรก็ตาม ตำรวจในจังหวัดบัตเกน ทางตะวันตกของคีร์กีซสถาน ระบุว่า ทหารยิงยิงปะทะกันในช่างกลางคืน แต่ไม่รุนแรง

ทหารคีร์กีซสถานขนที่นอนไปให้กับประชาชนที่ต้องอพยพจากชายแดนทาจิกิสถาน เพื่อหนีการปะทะกันระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย
ทหารคีร์กีซสถานขนที่นอนไปให้กับประชาชนที่ต้องอพยพจากชายแดนทาจิกิสถาน เพื่อหนีการปะทะกันระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย

...

ต่อมาในวันศุกร์ ทาจิกิสถานก็ออกแถลงการณ์ยอมรับมาตรการหยุดยิง แต่ไม่ระบุถึงความเสียหายจากการปะทะ ขณะที่ฝ่ายคีร์กีซสถาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อาลิซา ซอลตอนเบโควา เผยว่า มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 31 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 150 คนในเหตุความรุนแรงตั้งแต่วันพฤหัสบดี นอกจากนี้ การปะทะกันยังทำให้ประชาชนกว่า 10,000 คนต้องอพยพด้วย

ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดบัตเกน อ้างว่า เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันได้แล้วว่า จะมีการถอดกล้องวงจรปิดออกจากสถานที่พิพาทดังกล่าว แต่ฝ่ายทาจิกิสถานออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง

ทั้งนี้ คีร์กีซสถานและทาจิกิสถาน ก็เหมือนชาติสมาชิกสหภาพโซเวียตอื่นๆ ที่มีปัญหาเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านหลังโซเวียตล่มสลาย แต่ปัญหาระหว่างคีร์กีซสถานและทาจิกิสถานหนักเป็นพิเศษ เพราะพื้นที่กินระยะทางมากกว่า 1 ใน 3 ของรอยต่อเขตแดนระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งมีความยาวถึง 1,000 กม. และบ่อยครั้งที่ข้อพิพาทจะลุกลามกลายเป็นความรุนแรง