- ผลการประชุมผู้นำอาเซียนเมื่อวันเสาร์ที่ 24 เมษายน สรุปออกเป็นแถลงการณ์ 10 ข้อ และ 5 ฉันทามติ ยังคงมีเนื้อหาที่ไม่ต่างจากฉบับก่อนๆ และไม่ได้มีท่าทีใหม่ๆ เกิดขึ้น
- อาเซียนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้นให้มาก ขอให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันเพื่อเจรจาหาทางออกโดยสันติ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน โดยไม่ระบุชัดไปถึงกองทัพ ซึ่งเป็นฝ่ายเดียวที่ใช้กำลัง และต้องอดทนอดกลั้นมากที่สุด
- การออกแถลงการณ์ถูกตั้งคำถามว่า บรรจุไว้แต่ถ้อยคำสวยหรู หากไม่ดำเนินการให้เป็นจริง สันติภาพของพม่าจะไม่มีวันเกิดขึ้น
ทอม แอนดรูว์ ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติน่าจะประเมินผลการประชุมผู้นำอาเซียนเมื่อวันเสาร์ที่ 24 เมษายน ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ได้ตรงกับความเป็นจริงมากสุด เมื่อเขาส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์หลังการประชุมว่า
“ผลการประชุมผู้นำอาเซียนจะพบได้ในพม่า ไม่ใช่ในเอกสาร การสังหาร (ผู้ประท้วง) จะหยุดลงหรือไม่ การคุกคามเพื่อนบ้านจะหยุดหรือไม่ นักโทษการเมืองหลายพันคนจะได้รับการปล่อยตัวหรือไม่ คนทำผิดจะยังคงลอยนวลอีกหรือไม่ (ผม) รอคอยที่จะทำงานร่วมกับทูตพิเศษอาเซียนด้วยความกังวลใจ”
นับจากวันที่รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จนถึงวันที่มีการประชุมผู้นำอาเซียน ซึ่ง พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดผู้นำการยึดอำนาจ เดินทางเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง กองทัพพม่า หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ตัตมาดอว์ (Tatmadaw) สังหารประชาชนชาวพม่าไปแล้ว 748 ราย จับกุมคุมขังผู้ประท้วงต่อต้านการรัฐประหารไปแล้ว 4,429 คน ตามการรายงานของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (Assistance Association for Political Prisoners: AAPP) ปรากฏว่ามีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่ได้รับการประกันตัวออกไป
ถ้าดูตามแถลงการณ์ของบรูไน ในฐานะประธานอาเซียน ที่ออกมาหลังการประชุม ดูเหมือนว่าการประชุมของผู้นำคราวนี้ได้ผลเกินคาด เพราะสามารถบรรลุฉันทามติ 5 ข้อ ที่สำคัญคือตกลงกันว่าจะมีการตั้งทูตพิเศษของประธานอาเซียนเพื่อเป็นตัวกลางการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกันอยู่ในเวลานี้ แต่ข้ออื่นๆ ไม่มีอะไรใหม่กว่าท่าทีเดิมๆ ของอาเซียนที่เคยแถลงแล้วในเดือนก่อนๆ หลังการยึดอำนาจ เช่น เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงทันที ให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้นให้มาก ขอให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันเพื่อเจรจาหาทางออกโดยสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และอาเซียนจะให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่พม่า
ที่น่าผิดหวังคือ ยังคงไม่มีข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง รวมทั้ง ออง ซาน ซูจี ที่ยังถูกจับกุมคุมขังอยู่ในเวลานี้
ตัวแถลงการณ์หลักในข้อ 8 จาก 9 ข้อที่ออกมาเมื่อวันเสาร์ที่ 24 เมษายน ยังเล่นสำบัดสำนวนที่ไร้ความหมายอยู่เหมือนฉบับก่อน ที่ออกหลังจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ว่า “เราได้ยินข้อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง รวมทั้งชาวต่างชาติ”
...
ความจริง มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ได้ยืนยันจุดยืนเรื่องการปล่อยตัวนักโทษการเมืองมาตลอด และพยายามจะใส่ข้อความนี้ในฉันทามติ 5 ข้ออยู่เหมือนกัน แต่เสียงส่วนใหญ่ในอาเซียนดูเหมือนจะยังเกรงใจ มิน อ่อง หล่าย อยู่มาก จึงตัดประเด็นนี้ทิ้งไป
นอกจากนักการทูตและนักวิเคราะห์ที่เป็นกองเชียร์กลุ่มอาเซียนแล้ว ปฏิกิริยาของนานาชาติต่อถ้อยแถลงหลังการประชุมอาเซียนเที่ยวนี้ยังปรากฏความเคลือบแคลงสงสัยอยู่มากว่าจะเป็นจริงได้แค่ไหน
นายแพทย์ซาซา รัฐมนตรีของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของฝ่ายต่อต้านการรัฐประหาร คณะกรรมการสมัชชาผู้แทนแห่งสหภาพ (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw: CRPH) กล่าวในแถลงการณ์ทันทีหลังการประชุมอาเซียนว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติต้อนรับแถลงการณ์ดังกล่าว ตั้งตารอคอยการติดต่อประสานงานจากกลุ่มอาเซียน และขอชื่นชมประธานาธิบดี โจโก วิโดโด เป็นพิเศษ ที่ช่วยเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง
แต่ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายแขนง นายแพทย์ซาซา กล่าวว่า “การออกแถลงการณ์เป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าปราศจากการดำเนินการเสียแล้ว มันก็ไร้ความหมาย เราจะรอดูว่าหลังจากนี้จะมีการดำเนินอย่างไร”
เพื่อเป็นการพิสูจน์ตัวเอง สิ่งที่อาเซียนจะต้องทำนับจากวันนี้เป็นต้นไปคือ รีบตั้งผู้แทนพิเศษโดยเร็ว ตัวบุคคลจะเป็นใครก็น่าสนใจอย่างยิ่งว่า จะมีความรู้ ความสามารถ น่าเชื่อถือพอจะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายหรือไม่ และประธานอาเซียนจะให้อาณัติแค่ไหน ทำอะไรได้บ้าง
ในแถลงการณ์ระบุว่า เลขาธิการอาเซียนจะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ แต่จะช่วยได้มากน้อยเพียงใดก็ยังไม่ชัดเจน เช่น กรณีโรฮีนจาเมื่อ 2 ปีก่อนนั้น กว่าเลขาธิการจะเข้าไปรัฐยะไข่ได้ก็ต้องใช้เวลานานมาก
สำหรับเหตุการณ์รุนแรงที่ลุกลามไปทั่วประเทศครั้งนี้ ผู้แทนพิเศษคงรอนานไม่ได้ เพราะต้องรีบเดินทางไปพม่าเพื่อพบปะกับฝ่ายต่างๆ ผู้มีส่วนได้เสียในการเมืองพม่าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ออง ซาน ซูจี พรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) และพรรคการเมืองอื่นๆ ทั้งที่ได้รับเลือกตั้งและไม่ได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ผู้ประท้วงกลุ่มต่างๆ และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์
นี่เป็นงานที่ไม่ง่าย เพราะลำพังแค่จะพบกับกลุ่มใดบ้าง และใครคือตัวแทนของกลุ่มนั้นๆ การพบปะจะเกิดขึ้นทีละกลุ่ม หรือพร้อมกันทั้งหมด ก็ดูเป็นปัญหามาก
อีกประการหนึ่ง อาเซียนจะทำอย่างไรเพื่อยุติความรุนแรง ลำพังการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดทนอดกลั้นดูจะเป็นแค่คำพูดสวยหรูที่กลุ่มอาเซียนก็เรียกร้องมาโดยตลอด ทั้งๆ ที่ต่างก็เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ผู้ที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนพม่าก็คือกองทัพแห่งชาติของพม่านั่นเอง แต่อาเซียนก็ไม่เคยกล้าบอกตรงๆ ว่าผู้ที่สมควรใช้ความอดทนอดกลั้นกว่าใครทั้งหมดก็คือ ตัตมาดอว์
ที่สำคัญที่สุด มิน อ่อง หล่าย ไม่ได้ให้สัญญาว่าจะปฏิบัติตามข้อเรียกร้องหรือฉันทามติของอาเซียนได้มากน้อยเพียงใด
หนังสือพิมพ์ Global New Light Of Myanmar กระบอกเสียงรัฐบาล พาดหัวใหญ่อ้างคำพูดของ มิน อ่อง หล่าย ในที่ประชุมอาเซียนว่า “พม่าจะร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างใกล้ชิดภายใต้กฎบัตรอาเซียน” แต่ดูจากประสบการณ์ของทหารพม่าในการรับมือกับอาเซียนแล้ว คงคาดเดาได้ไม่ยากว่า สันติภาพและประชาธิปไตยของพม่าจะไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้แน่นอน.