• ในแต่ละปี ไต้หวันต้องรับมือกับพายุไต้ฝุ่นหลายลูก แต่เมื่อไม่มีพายุในปี 2021 ไต้หวันก็ประสบภัยแล้ง
  • ภัยแล้งทำให้ประชาชนต้องจำกัดการใช้น้ำ ในบางเมืองมีการใช้นโยบายจูงใจให้คนประหยัดน้ำแลกกับเงินรางวัล
  • เมื่อเกิดภัยแล้ง น้ำเหลืออยู่ถูกนำไปใช้กับอุตสาหกรรมชิปอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญกับรายได้ของไต้หวัน มากกว่าเกษตรกรรมและการใช้งานอื่นๆ

ในแต่ละปี ไต้หวันต้องรับมือกับพายุไต้ฝุ่นหลายลูก ทว่าตั้งแต่ปี 2020 จนถึงตอนนี้ยังไม่มีพายุไต้ฝุ่นเลยแม้แต่ลูกเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำเหลือไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของความจุ แม้รัฐบาลจะทำฝนเทียมตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่ก็ไม่เป็นผล

ทะเลสาบสุริยันจันทรา (Sun Moon Lake) สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังแห้งขอด รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมภายในประเทศอย่างหนัก โดยเฉพาะโรงงานผลิตชิปและเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนประกอบสำคัญของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่างๆ

ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน หลายเมืองของไต้หวันในภาคกลางและภาคใต้ ที่มีประชากรรวมกันกว่า 1 ล้านครัวเรือน เช่น ไถจง เริ่มบังคับใช้นโยบายจำกัดการใช้น้ำ ซึ่งประชาชนสามารถใช้น้ำประปาได้แค่ 5 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น โรงเรียนประถมและมัธยมต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอน เมืองไถหนานประกาศปิดให้บริการสระว่ายน้ำ ซาวน่า ล้างรถยนต์ ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน เพื่อประหยัดน้ำ และยังออกระบบให้รางวัลจูงใจให้คนประหยัดน้ำด้วย เช่น บ้านที่ใช้น้ำน้อยลง 30 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือนจะได้รับคูปองเงินสด 1,000 ดอลลาร์ไต้หวัน หรือประมาณ 1,000 บาท

แม้น้ำแล้ง อุตสาหกรรมยังสำคัญกว่า

ภัยแล้งที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะปัญหาชิปขาดแคลน เพราะไมโครชิปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของโลกผลิตในไต้หวัน รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาร์ทโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้า มีความต้องการชิปมากขึ้นในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด

อย่างไรก็ตาม แม้จะทำรายได้ให้กับประเทศมาก แต่โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์นี้ต้องใช้น้ำจำนวนมหาศาลด้วย เฉพาะปีที่แล้ว รัฐบาลตัดสินใจหยุดจัดสรรน้ำไปยังพื้นที่เกษตรกรรม 74,000 เฮกตาร์ คิดเป็น 1 ใน 5 ของพื้นที่ชลประทานทั้งประเทศเพื่อสำรองให้กับโรงงานผลิตชิปแทน ขณะนี้นิคมอุตสาหกรรม 3 แห่งที่โรงงานผลิตอุปกรณ์ไอทีตั้งอยู่ต้องลดการใช้น้ำให้ได้ 15 เปอร์เซ็นต์ บางแห่งรีไซเคิลน้ำที่ใช้มากกว่า 86 เปอร์เซ็นต์

การแก้ปัญหาของรัฐบาลถูกมองว่า ไต้หวันให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมมากกว่าเกษตรกรรม ขณะที่เกษตรกรไม่มีน้ำพอสำหรับการปลูกพืช และได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลแทน ซึ่งพวกเขามองว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะต้องจ่ายค่าเช่าที่ดิน และเสียลูกค้าไปจากการที่ไม่สามารถส่งผลผลิตได้ตามแผน รัฐบาลควรบริหารจัดการน้ำให้ดีกว่านี้

แหล่งเก็บน้ำของไต้หวันพึ่งพาน้ำฝนจากพายุฤดูร้อนเป็นหลัก ชู ฮวง ซิว (Hsu Huang-hsiung) ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง สถาบันวิจัย อะคาเดเมีย ซินิกา (Academia Sinica) ของไต้หวัน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ว่า ไต้หวันไม่เคยพูดถึงปัญหาสภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง และคิดว่าน้ำเป็นทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว รัฐบาลไม่ต้องบริหารจัดการมาก ถ้าพิจารณาปริมาณน้ำฝนทั้งประเทศตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา จะเห็นว่ามีวันฝนตกน้อยลง ส่วนอุณหภูมิที่สูงขึ้นในมหาสมุทรอินเดียอาจก่อให้เกิดความกดดันอากาศสูงในมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งผลให้ฝนไม่ตกและพายุไต้ฝุ่นน้อยลง

...


อ้างอิง: