• การรัฐประหารในพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ตามมาด้วยการประท้วงและกวาดล้างผู้ชุมนุมอย่างโหดร้าย ทำให้บรูไน ในฐานะประธานอาเซียน ตัดสินใจเรียกประชุมหัวหน้ารัฐบาลเป็นสมัยพิเศษในวันเสาร์ที่ 24 เมษายน
  • เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กว่ากึ่งศตวรรษของกลุ่มอาเซียนที่เรียกประชุมสมัยพิเศษ หลังจากเกิดการรัฐประหาร และการปราบปรามประชาชนในประเทศสมาชิก
  • อาเซียนเคยมีนโยบายแข็งกร้าวต่อพม่าในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 ถึงกับเคยมีข้อเสนอให้ขับพม่าออกจากกลุ่มอาเซียน แต่รัฐบาลไทยในเวลานั้นก็มีบทบาทช่วยปกป้องพม่าไม่ให้ถูกขับออก

การรัฐประหารในพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ตามมาด้วยการประท้วงอย่างกว้างขวางของชาวพม่า และการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมของกองทัพ ทำให้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ไม่อาจจะอยู่นิ่งเฉยอีกต่อไปได้

บรูไน ในฐานะประธานอาเซียน ตัดสินใจเรียกประชุมหัวหน้ารัฐบาลเป็นสมัยพิเศษในวันเสาร์ที่ 24 เมษายน

การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นที่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของอาเซียน ตามคำแนะนำของอินโดนีเซีย ซึ่งทั้งประธานาธิบดีโจโก วิโดโด และรัฐมนตรีต่างประเทศ เรทโน มาร์ซูดี ออกหน้าเป็นตัวตั้งตัวตีเคลื่อนไหวมาตลอดตั้งแต่เริ่มแรก เมื่อ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของ ออง ซาน ซูจี และประธานาธิบดี วิน มินต์ กระทั่งคนทั่วไปเข้าใจผิดว่า อินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียนในปีนี้

หัวหน้ารัฐบาลของสมาชิกอาเซียนหลายคน รวมทั้ง มิน อ่อง หล่าย ตอบตกลงที่จะเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วยตนเอง ในขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมด้วยเหตุผลว่าห่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในประเทศ แม้ว่าจะได้หารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีโจโกวีแล้วก็ตาม 

ดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กว่ากึ่งศตวรรษของกลุ่มอาเซียนที่เรียกประชุมสมัยพิเศษ หลังจากเกิดการรัฐประหารและการปราบปรามประชาชนในประเทศสมาชิก ความจริงแล้วการรัฐประหารและความรุนแรงไม่ใช่ของแปลกใหม่ในอาเซียน

การรัฐประหารในประเทศไทย 2 ครั้งในศตวรรษที่ 21 คือปี 2549 ซึ่งฟิลิปปินส์เป็นประธานอาเซียน ตามด้วยการปราบปรามผู้ประท้วงเสื้อแดงในกรุงเทพฯ ปี 2553 ซึ่งเวียดนามเป็นประธาน และรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 ซึ่งพม่าเป็นประธาน ก็ไม่มีการเรียกประชุมสมัยพิเศษแบบนี้

แต่ใช่ว่าอาเซียนจะสร้างความเคยชินแบบนี้ไปเสียทั้งหมด กรณีของไทยนั้น สมาชิกอื่นๆ แม้แต่อินโดนีเซีย ซึ่งแสดงตัวเป็นผู้นำตัวจริงของอาเซียนมานาน ให้ความเกรงใจไทยในฐานะประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน และการรัฐประหาร 2 ครั้งหลังของไทยนั้นได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากชนชั้นนำ นักการทูตของไทยก็เลยไม่มีใครแตกแถว พากันช่วยแก้ต่างให้คณะทหารที่ยึดอำนาจ และบล็อกความเคลื่อนไหวของประเทศที่อยากจะวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทย เรื่องของไทยก็เลยไม่เป็นประเด็นในอาเซียน

กรณีของพม่าต่างออกไป เพราะอาเซียนให้ความสนใจปัญหาของพม่ามาโดยตลอด ก่อนที่พม่าจะเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในปี 2540 เสียด้วยซ้ำ เพราะการปราบปรามฝ่ายต่อต้านและการกักขัง ออง ซาน ซูจี ยังดำเนินมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2531 (เหตุการณ์ 8888) อาเซียนก็มีนโยบายเกี่ยวพันอย่างยืดหยุ่น ติดต่อสัมพันธ์ และปกป้องพม่าจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์และคว่ำบาตรของประเทศตะวันตก บางครั้งถึงกับยอมว่างเว้นการประชุมร่วมกับสหภาพยุโรปก็มี เพราะยุโรปไม่ต้อนรับพม่าในที่ประชุม

อาเซียนเคยมีนโยบายแข็งกร้าวต่อพม่าในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 เมื่อสมาชิกอาเซียนสำคัญๆ อย่างอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ หมดความอดทนที่เห็นรัฐบาลทหารในเวลานั้นคุมขัง ออง ซาน ซูจี อีกครั้งในปี 2546 หลังจากผู้สนับสนุนรัฐบาลโจมตีขบวนรถของเธอที่เมืองเดปายิน ถึงกับเคยมีข้อเสนอให้ขับพม่าออกจากกลุ่มอาเซียน แต่รัฐบาลไทยในเวลานั้นก็มีบทบาทช่วยปกป้องพม่าไม่ให้ถูกขับออกด้วยการเสนอโรดแม็ป และกระบวนการกรุงเทพฯ (Bangkok Process) เพื่อช่วยพาพม่าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย แน่นอนว่าพม่าปฏิเสธอย่างเย็นชา

ในที่สุด ปี 2548 สิงคโปร์เสนอให้พม่าสละสิทธิการเป็นประธานอาเซียนตามวงรอบในปี 2549-2550 จนกว่าพม่าจะปฏิรูปการเมืองสู่ประชาธิปไตย ซึ่งแม้พม่าจะยอมตาม แต่ก็ตามมาด้วยการปราบปรามพระสงฆ์อย่างรุนแรงในปี 2550

อาเซียนพยายามกดดันต่อเนื่อง จนในที่สุดพม่าก็ได้รัฐธรรมนูญในปี 2551 จัดให้มีการเลือกตั้งใน 2553 ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) คว่ำบาตร จึงได้รัฐบาลกึ่งพลเรือนของ พลเอกเต็ง เส่ง ก่อนที่อาเซียนจะผสานพม่าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมหลังการเลือกตั้งในปี 2558 ซึ่งได้พรรค NLD ของ ออง ซาน ซูจี เป็นรัฐบาล

มาถึงวันนี้ โลกของชาวพม่าหมุนกลับมาอยู่ที่เดิมเหมือนที่เคยเป็นเมื่อ 30 กว่าปีก่อน (พูดให้ตรงกว่านั้นก็เหมือนเกือบ 60 ปีก่อนเมื่อ เน วิน ทำรัฐประหาร) ทหารยึดอำนาจทางการเมือง ปราบปรามผู้ประท้วง จับกุมคุมขังฝ่ายต่อต้าน รวมทั้ง ออง ซาน ซูจี แต่สถานการณ์วันนี้ซับซ้อนยุ่งยากกว่าเดิม ผู้ประท้วงมีจำนวนมาก และเป็นคนรุ่นใหม่ที่คุ้นชินกับเสรีภาพในการใช้ชีวิตและการเมืองมาแล้วระดับหนึ่ง ประสานสมทบเข้ากับกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งที่มีอาวุธและไม่มีอาวุธ เป็นนักสู้รุ่น 2-3 ที่เคยเป็นแสงสว่างแห่งสันติมาบ้างแล้ว

และประการสำคัญเศรษฐกิจ สังคมพม่า ผูกพันกับโลกภายนอกมากขึ้น เครือข่ายโซเชียลมีเดีย มีพลังและศักยภาพมากในการสื่อสารเหตุการณ์ไปสู่โลก โดยที่อำนาจดิบๆ ของกองทัพหยุดหรือปิดกั้นไม่ได้

ถึงวันที่ 21 เมษายน ทอม แอนดรู ทูตพิเศษสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษย์พม่า  รายงานผ่านทวิตเตอร์ว่า มีผู้ประท้วงเสียชีวิตแล้ว 737 คน มากกว่า 2,300 คนถูกจับกุมคุมขัง และประมาณ 250,000 คน กลายเป็นคนพลัดถิ่น เพราะหนีการปราบปรามอย่างหัวซุกหัวซุน ตอนนี้พวกเขายังคงเร่ร่อนอยู่ภายในประเทศ เชื่อว่าถ้าการปราบปรามหนักหน่วงยิ่งขึ้น เพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันอย่างไทย อินเดีย บังกลาเทศ และจีน อาจจะต้องมีโอกาสได้ต้อนรับพวกเขาไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

...


มีความคาดหวังต่างๆ นานาว่า การประชุมสมัยพิเศษที่จาการ์ตาในวันที่ 24 เมษายนนี้จะมีผลต่อสถานการณ์ในพม่า มองในแง่ร้ายที่สุด มิน อ่อง หล่าย อาจจะแค่เดินทางไปเล่าเรื่องจากมุมมองของเขาให้ผู้นำอาเซียนฟัง ตัวอย่างเช่น ออง ซาน ซูจี โกงเลือกตั้ง ทุจริตผิดกฎหมาย ต้องดำเนินคดี มีผู้เสียชีวิตระหว่างการประท้วงจริง แต่ก็เป็นพวกนักก่อจลาจลแค่ 250 กว่าคนเท่านั้น กองทัพต้องรักษาความสงบต่อไปอีกสักระยะตามแผน 5 ขั้น เพื่อเตรียมการไปสู่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมในอีกราวๆ 1 ปีข้างหน้า

จากนั้นผู้นำอาเซียนซึ่งหลายคนไม่ได้มีแผนอะไรอยู่ในใจ จึงรับทราบด้วยความห่วงใย และขอให้ทุกฝ่ายอดทนอดกลั้นหาทางออกโดยสันติต่อไป ประธานออกแถลงการณ์ ปิดประชุม (แต่เรื่องยังไม่จบ โปรดติดตามตอนต่อไป)