• นับจากวันรัฐประหารถึงปัจจุบัน การต่อต้านอำนาจเผด็จการครั้งประวัติศาสตร์ของชาวเมียนมายังคงเดินหน้าต่อ จนทำให้เกิดรัฐบาลและกองกำลังฝ่ายมวลชน โดยอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่ายทั้งผู้ลี้ภัยการเมือง อดีตนักการเมืองพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ประชาชน และชนกลุ่มน้อย
  • จุดประสงค์หลักของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ คือ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต่อต้านรัฐบาลทหาร และถอนรากถอนโคนระบอบเผด็จการทหาร

หากยังจำกันได้ ช่วงเช้าตรู่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศเมียนมา เมื่อกองทัพนำกำลังทหารเข้าควบคุมตัวนักการเมืองพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) รวมถึงอดีตประธานาธิบดี อู วิน มินต์ (U Win Myint) และ ออง ซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ

กองทัพประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ประกาศว่าภายในหนึ่งปีนับจากนี้ อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ จะต้องดำเนินการภายใต้การควบคุมของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

เหตุการณ์ในวันแรกของเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 สร้างความรู้สึกหลากหลายแก่ชาวเมียนมา แม้รัฐบาลทหารจะประกาศใช้ภาวะฉุกเฉิน มวลชนจำนวนมากตัดสินใจฝ่าฝืนคำสั่ง รวมตัวเดินบนถนนขับไล่รัฐบาล เกิดการทำอารยะขัดขืนนัดหยุดงาน ส่งผลให้การประท้วงเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐตัดสินใจใช้กระสุนจริงสังหารผู้ชุมนุม

ด้านผู้ประท้วงโต้ตอบด้วยการเผาสถานที่ราชการ ตั้งป้อมกำบังกลางถนน เผาโรงงานจีนในประเทศ การต่อสู้ที่ยืดเยื้อระหว่างประชาชนกับรัฐบาลทหารส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกิน 700 ราย และถูกจับกุมคุมขังหลายพันคน

...

เมื่อประชาชนจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

เวลานี้นครย่างกุ้งแทบกลายเป็นเมืองร้าง บางย่านกลายเป็นเขตสมรภูมิ ขณะที่รัฐบาลทหารเร่งใช้กำลังและอาวุธปราบปรามผู้ชุมนุม คณะกรรมการสมัชชาผู้แทนแห่งสหภาพ (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw: CRPH) ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรค NLD ผู้ลี้ภัยทางการเมือง ร่วมกับอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกปลดหลังเกิดรัฐประหาร ตัดสินใจจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล ต่อต้านการกระทำของกองทัพ โดย มาน วิน ข่าย ถั่น (Mahn Win Khaing Than) ดำรงตำแหน่งรักษาการรองประธานคณะกรรมการสมัชชาผู้แทนแห่งสหภาพ

จุดมุ่งหมายของรัฐบาลเฉพาะกาล คือการแสดงจุดยืนไม่ยอมรับการทำรัฐประหารของกองทัพ ไม่ยอมรับรัฐบาลของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย การทำงานของรัฐบาลเฉพาะกาลจะดำเนินโดย ‘คณะรัฐบาลเอกภาพ’ เตรียมร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ทันสมัย ยุติธรรม ให้ความคุ้มครองชาวเมียนมาตามหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ภายใต้ระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยสหพันธรัฐ ควบคู่กับการเร่งขอการรับรองจากนานาชาติรวมถึงองค์กรระหว่างประเทศทั่วโลก

การตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลโดยกลุ่มการเมืองและประชาชนที่ไร้อาวุธ อาจไม่สร้างความหวั่นวิตกแก่กองทัพเท่าไรนัก

ความตึงเครียดในประเทศเพิ่มสูงขึ้นเมื่อ มาน วิน ข่าย ถั่น ประกาศส่งตัวแทนเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ อาทิ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union: KNU) ทางด้านตะวันออกของประเทศ, กองทัพอาระกัน (Arakan Army: AA) ของกลุ่มชาวพุทธในรัฐยะไข่, สภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State: RCSS) และกองทัพประกาศอิสรภาพกะฉิ่น (Kachin Independence Army: KIA)

“กลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาต่างเคยประสบพบเจอกับความรุนแรงจากกองทัพ ถูกเผด็จการใช้อำนาจกดขี่อย่างไม่ยุติธรรมนานหลายศตวรรษ รัฐบาลของเรามีความปรารถนาที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตย พาสังคมไปสู่ความเท่าเทียม และสิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือการร่วมมือกัน” คำแถลงของ มาน วิน ข่าย ถั่น ส่งผลให้รัฐบาลทหารเรียกกลุ่มการเมืองจัดตั้งว่า ‘กลุ่มก่อการร้าย’


บทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของรัฐบาลเฉพาะกาล

รัฐบาลเฉพาะกาลเคยส่งจดหมายถึงรัฐบาลปักกิ่ง เรียกร้องให้จีนแสดงจุดยืนเคียงข้างประชาชนชาวเมียนมา ไม่สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงให้จีนประกาศรองรับรัฐบาลที่จัดตั้งโดยประชาชน ทว่าไม่ได้รับการตอบกลับ

กระทั่งวันที่ 10 เมษายน 2021 สำนักข่าว The Irrawaddy รายงานว่า สถานทูตจีนในกรุงย่างกุ้งตัดสินใจต่อสายตรงหารัฐบาลเฉพาะกาลเมียนมา เพื่อสอบถามถึงจุดประสงค์ของการจัดตั้งรัฐบาล

ตัวแทนรัฐบาลปักกิ่งกล่าวต่อรัฐบาลเฉพาะกาลว่า ประเทศจีนไม่ต้องการให้เกิดเหตุรุนแรงในประเทศเมียนมา เนื่องจากความขัดแย้งภายในส่งผลต่อการค้าและความปลอดภัยของชาวจีนที่อยู่ในเมียนมา แต่คำตอบนั้นยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลปักกิ่งจะรองรับการจัดตั้งรัฐบาลโดยประชาชนหรือไม่


กำเนิดกองทัพฝ่ายประชาชน

วันที่ 15 เมษายน 2021 กลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลทหาร ประกาศตั้งกองทัพสหพันธรัฐอิรวดี (Ayeyarwaddy Federal Army: AFA) ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก จากการรวมกลุ่มของประชาชนทุกจังหวัด ทุกชนชั้น ทุกอาชีพ โดยมีจุดยืนร่วมกันคือการต่อสู้กับรัฐบาลทหาร ก่อนประกาศรับสมัครอาสาแนวร่วมปกป้องประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง

กองทัพสหพันธรัฐอิรวดีพร้อมทำงานร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ ภายใต้การทำงานของรัฐบาลคู่ขนาน อย่างไรก็ตาม กองทัพจัดตั้งดังกล่าวไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่ากองทัพจะจัดหาอาวุธเพื่อต้านการโจมตีจากเจ้าหน้าที่รัฐมาจากไหน

ในวันเดียวกัน มีรายงานว่าทหารเมียนมากว่าร้อยนายถูกสังหาร หลังพยายามยึดคืนฐานที่มั่นใกล้ชายแดนประเทศจีน ก่อนหน้านี้รัฐบาลทหารใช้การโจมตีทางอากาศหลายระลอก ส่งผลให้ประชาชนในรัฐกะฉิ่นนับพันต้องเร่งอพยพออกจากถิ่นที่อยู่ของตน ด้านกลุ่มติดอาวุธ KIA ที่สามารถต่อต้านการโจมตีของทหารเมียนมาประกาศว่า หากไม่หยุดใช้ความรุนแรงกับประชาชน จะยกระดับโต้ตอบการกระทำของรัฐบาลทหาร

การจับมือกันระหว่างประชาชนและชนกลุ่มน้อย ดูมีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นทุกขณะ

...


จาก ‘รัฐบาลเฉพาะกาล’ สู่ ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’

วันที่ 16 เมษายน 2021 มิน โก นาย (Min Ko Naing) หนึ่งในแกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยสมัยปี 1988 (เหตุการณ์ 8888) เผยแพร่วิดีโอความยาว 10 นาที ใจความสำคัญของคลิปดังกล่าวคือการประกาศเรื่องรัฐบาลเฉพาะกาลที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) โดยมี อู วิน มินต์ เป็นประธานาธิบดีตามเดิม และ ออง ซาน ซูจี ยังคงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ ส่วน มาน วิน ข่าย ถั่น เปลี่ยนจากรักษาการรองประธาน CRPH เป็นรัฐมนตรีแห่งสหภาพ ส่วนตัวแทนชาวกะฉิ่น ดูวา ละชี ละ (Duwa Lashi La) ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี

รัฐมนตรีและสมาชิกอื่นๆ อ้างอิงตามผลเลือกตั้งปี 2021 ที่กองทัพเมียนมาอ้างว่าเกิดการโกงครั้งใหญ่ นอกจากนี้ยังมีแกนนำในการชุมนุมและตัวแทนชนกลุ่มน้อยทั่วประเทศ อาทิ กะฉิ่น กะเหรี่ยง ตะอาง ชิน ชาน มอญ ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลให้รัฐบาลชุดนี้มีกลุ่มชาติพันธุ์เข้าร่วมมากที่สุดชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ แม้กลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าร่วมจะยังคงมีความรู้สึกคลางแคลงใจต่อตัวของ ออง ซาน ซูจี อยู่ไม่น้อยก็ตาม

ซาซา (Sasa) รัฐมนตรีความร่วมมือระหว่างประเทศ ในฐานะโฆษกรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ แถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนว่า

“หากสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเคยให้การรองรับ ฮวน ไกวโด (Juan Guaido) ผู้นำฝ่ายค้านของประเทศเวเนซุเอลา ที่สุดท้ายได้ขึ้นเป็นผู้นำประเทศโดยชอบธรรม รัฐบาลของพวกเราถือเป็นผู้ที่ได้รับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย หากประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายปฏิเสธรัฐบาลของเรา นั่นหมายความว่าพวกท่านปฏิเสธประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน”

การต่อต้านรัฐบาลทหารของชาวเมียนมายังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดประชาชนจำนวนมากตัดสินใจนัดกันประท้วงเงียบอีกครั้ง ไม่ออกจากบ้าน ไม่ไปทำงาน และใช้เวลาที่มีไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐสังหาร ก่อนเตรียมวางแผนรับมือกับการปราบปรามของรัฐ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคตอันใกล้

ด้านสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners: AAPP) รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตวันที่ 19 เมษายน 2021 ว่ามีจำนวน 738 คน ถูกจับกุมราว 3,261 คน โดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติและประชาชนชาวเมียนมา กำลังรอดูท่าทีของนานาชาติว่าจะให้การยอมรับรัฐบาลที่จัดตั้งโดยประชาชนหรือไม่

...

#Thairath #Thairathonline #Politics #ต่างประเทศ #การเมือง #เมียนมา #พม่า #รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ #รัฐประหาร #ทหาร