จำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกทะลุ 3 ล้านรายแล้ว โดยหลายประเทศอย่างบราซิลและอินเดีย สถานการณ์ยังคงวิกฤติ ขณะที่การฉีดวัคซีนล่าช้าเพราะกังวลเรื่องผลข้างเคียง
สำนักข่าว เอ็นบีซีนิวส์ รายงานว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 3,002,154 ศพแล้วในวันเสาร์ที่ 17 เม.ย. 2564 ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลไวรัสโคโรนา ของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮ็อปกินส์ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมก็พุ่งขึ้นเป็น 140,092,902 รายแล้ว
จำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าว เทียบเท่ากับจำนวนประชากรทั้งหมดในเมืองหลวงของหลายๆ ประเทศเช่น กรุงเคียฟ ของยูเครน, กรุงการากัส ของเวเนซุเอลา หรือ กรุงลิสบอน ของโปรตุเกส อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่าจำนวนที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้มาก เพราะมีโอกาสที่ข้อมูลจะตกหล่น หรือมีการปิดบังข้อมูล
ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้น 1 ล้านคนภายในเวลาเพียงประมาณ 3 เดือนเท่านั้น หลังจากตัวเลขทะลุ 2 ล้านศพเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่กระบวนการฉีดวัคซีนต้านไวรัสในยุโรปและสหรัฐฯ เพิ่งเริ่มต้นขึ้น แต่ในวันนี้ กว่า 190 ประเทศทั่วโลกเริ่มการฉีดวัคซีนกันแล้ว แม้กระบวนการจะช้าเร็วต่างกันไป
...
ขณะที่การฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ กับสหราชอาณาจักร เข้าถึงประชากรจำนวนมากแล้ว และธุรกิจต่างๆ ก็เริ่มปรับตัวเข้ากับชีวิตหลังโควิด แต่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศยากจนหรือแม้แต่ประเทศร่ำรวยบางประเทศยังตามหลังอีกมาก เนื่องจากขาดแคลนวัคซีน จนต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ หรือเพิ่มข้อจำกัดเพื่อควบคุมการระบาดที่พุ่งสูง
ตามการเปิดเผยของนางมาเรีย ฟาน เคอร์คอฟ เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การอนามัยโลก ตอนนี้ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เฉลี่ยวันละประมาณ 12,000 ศพ และติดเชื้อถึง 700,000 รายต่อวัน ซึ่งนี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่ใครอยากให้เป็นหลังจากการระบาดดำเนินมานานถึง 16 เดือนแล้ว
หนึ่งในประเทศที่การระบาดยังอยู่ในขั้นวิกฤติ คือ บราซิล ผู้มีเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 3,000 ศพต่อวัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแพร่กระจายของไวรัสโควิดกลายพันธ์ุที่ทำให้การติดต่อเร็วขึ้น ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขใกล้พังทลาย ถึงขั้นมีรายงานว่า ยาระงับประสาทใกล้หมดจนหมอต้องเจือจางยาเพื่อให้ใช้กับคนไข้ได้มากขึ้น
ความล่าช้าในการฉีดวัคซีนก็กำลังส่งผลกระทบต่อบราซิลอย่างหนัก พวกเขาพึ่งพาวัคซีนเพียงยี่ห้อเดียว โดยไม่สนวัคซีนจากผู้ผลิตรายอื่นมานานหลายเดือนแล้ว ส่งผลให้เกิดปัญหาคอขวดและตอนนี้ก็สายไปเสียแล้วที่จะสั่งซื้อวัคซีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางปริมาณความต้องการที่เพิ่มสูงทั่วโลก
ส่วนที่อินเดีย การระบาดกลับมารุนแรงอีกครั้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ หลังก่อนหน้านั้นพบผู้ติดเชื้อน้อยลงเรื่อยๆ เพราะความหย่อนยานในการทำตามมาตรการควบคุมการระบาด จนตอนนี้พบผู้ติดเชื้อถึง 200,000 รายในวันเดียว จนยอดผู้ติดเชื้อสะสมทะลุ 14.5 ล้านราย และเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 175,000 ศพ
สถานการณ์ในอินเดียยังส่งผลกระทบไปถึงภายนอกประเทศด้วย เพราะพวกเขาเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ให้แก่โครงการแบ่งปันวัคซีน ‘COVAX’ ของสหประชาชาติ ซึ่งจะจัดสรรวัคซีนไปให้พื้นที่ยากจนของโลก โดยเมื่อเดือนมีนาคม อินเดียประกาศจะระงับการส่งออกวัคซีนจนกว่าสถานการณ์ในประเทศจะดีขึ้น
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สหรัฐฯ และชาติยุโรปเพิ่งสั่งระงับการใช้งานวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งผลิตโดยบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน หลังพบผู้เสียชีวิตจากการเกิดลิ่มเลือดอุดตันชนิดหายากแต่อันตรายหลังได้รับวัคซีน ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบว่ากรณีดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนตัวนี้หรือไม่
วัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกาก็ประสบปัญหาคล้ายคนจนทำให้ชาติสมาชิกสหภาพยุโรปต้องจำกัด หรือระงับการใช้งาน ซึ่งจะทำให้ตัวเลือกวัคซีน ซึ่งเป็นความหวังในการต่อสู้กับไวรัสโคโรนา ลดน้อยลงไปอีก