สเตโกซอรัสเป็นหนึ่งในไดโนเสาร์ที่มีลักษณะเตะตามากที่สุด พวกมันมีรูปร่างเป็นเอกลักษณ์ตรงที่มีหนามคล้ายแผ่นเกล็ดขนาดต่างๆกันเรียงรายบนหลังไปจนถึงปลายหาง เรียกว่าแผ่นเกราะกระดูก (osteoderms) ไดโนเสาร์กลุ่มนี้มีชีวิตอยู่ในยุคจูราสสิกเมื่อประมาณ 165-125 ล้านปีก่อน ขนาดตัวยาวประมาณ 5-7 เมตร ทว่าศีรษะกลับเล็กและดูผิดสัดส่วน ฟันของพวกมันจึงค่อนข้างเล็กตามไปด้วย
ล่าสุด ทีมวิจัยนานาชาตินำโดยนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในรัสเซีย ได้รายงานถึงสิ่งที่ค้นพบและรวบรวมได้ระหว่างการเดินทางไปยังสาธารณรัฐซาฮาหรือยาคูเตีย เขตปกครองตนเองในไซบีเรียตะวันออกของรัสเซีย เมื่อปี 2555, 2560-2562 สิ่งที่พบก็คือซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลฟันของสเตโกซอรัสที่เป็นของเด็กและผู้ใหญ่ ฟันส่วนใหญ่มีการสึกหรอในระดับสูง แถมยังมีการสึกหรอมากถึง 3 ด้านบนฟันซี่เดียว ซากฟันเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าสเตโกซอรัสที่อาศัยอยู่แถบขั้วโลกมีแนวโน้มที่จะอยู่ประจำถิ่นแถบนี้ และขยายเผ่าพันธุ์เลี้ยงดูลูกหลานในดินแดนเดียวกันตลอดทั้งปี
ทีมวิจัยเชื่อว่าลักษณะการงอกของฟันซี่ที่ 2 ในสเตโกซอรัสที่อาศัยแถบขั้วโลกสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จากการตรวจสอบเส้นวงเนื้อฟันเพื่อคำนวณจำนวนวันที่ต้องใช้ในการกำเนิดฟัน ทีมพบว่าการงอกของฟันสเตโกซอรัสในยาคูเตียใช้เวลาเพียง 95 วัน ขณะที่สายพันธุ์ไดโนเสาร์อื่นๆกระบวนการนี้จะใช้เวลา 200 วันหรือนานกว่านั้น.
ภาพ Credit : St. Petersburg State University