- ชาวอเมริกันติดตามคดีจอร์จ ฟลอยด์ ถูกตร.ใช้เข่ากดซอกคอจนสิ้นใจระหว่างการถูกจับกุม เมื่อศาลเมืองมินนิแอโพลิสนัดสืบพยานพิจารณาคดีตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม
- ตามรายงานผลการศึกษา พบชายผิวสี และวัยรุ่นผิวสีในสหรัฐฯ ถึง ประมาณ 1 ใน 1,000 คนถูกฆ่าตายโดยตำรวจระหว่างการเผชิญหน้ากัน เผยอดีตตำรวจเดเร็ค เชาวิน เคยใช้ความรุนแรงมาก่อน
- ‘ชีวิตคนผิวสีก็มีความหมาย’ ลุ้นการตัดสินคดีของคณะลูกขุน ขณะที่ทนายความฝ่ายจำเลยแย้งการที่ตำรวจใช้กำลังจับกุมฟลอยด์ ถือว่าเหมาะสมมีเหตุผล
“Say his name’ และ ‘I can’t Breath’ กลายเป็นถ้อยวลีที่ชาวอเมริกันพร้อมใจกันเปล่งเสียงทั่วทั้งประเทศเป็นเวลาหลายเดือน เพื่อทวงความยุติธรรมให้กับจอร์จ ฟลอยด์ ชายอเมริกันผิวสี วัย 46 ปี ที่เสียชีวิต ระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ด้วยการใช้เข่ากดซอกคอนานถึง 8 นาที 6 วินาที จนหมดสติและเสียชีวิตอย่างน่าสะเทือนใจ ที่เมืองมินนิแอโพลิส รัฐมินนิโซตา เมื่อ 25 พ.ค.2563
เวลาผ่านมาเกือบปี กระบวนการพิจารณคดีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ได้กลับมาสู่ความสนใจของชาวอเมริกันและชาวโลกอีกครั้ง เมื่อถึงวันนัดสืบพยานต่อคณะลูกขุนของศาลในเมืองมินนิแอโพลิส ในคดีที่นายเดเร็ค เชาวิน นายตำรวจ ผิวขาว อายุ 45 ปี ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาร้ายแรง 3 ข้อหาฆ่า จอร์จ ฟลอยด์ ได้แก่ 1. ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา 2. ฆ่าคนตายโดยไม่ได้วางแผนล่วงหน้า และ 3. ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายด้วยความประมาท
...
นายเชาวิน อดีตนายตำรวจ คือผู้ใช้เข่ากดซอกคอของฟลอยด์ นานถึง 8 นาที 6 วินาที ในสภาพที่ฟลอยด์ถูกสวมกุญแจมือ ใบหน้าแนบพื้น และเขาได้พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่า พยายามวิงวอนร้องขอชีวิตว่า ‘I can’t Breath’ (หายใจไม่ออก) ก่อนจะหมดสติแน่นิ่ง และเสียชีวิตในที่สุด
ภาพจากกล้องวงจรปิดและคลิปวิดีโอนาทีเลวร้ายที่เกิดกับฟลอยด์กระทั่งจบชีวิต ได้ถูกแชร์ส่งต่อบนโลกออนไลน์จนกลายเป็นคลิปไวรัล จุดชนวนให้ชาวอเมริกันหลายล้านคนทั่วทั้งประเทศลุกฮือออกมาประท้วงต่อต้านตำรวจในสหรัฐฯ ที่ใช้ความรุนแรง และมีความเหยียดผิว
มีบรรดาผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์สาเหตุเบื้องหลังสำคัญที่ทำให้ตำรวจในสหรัฐฯ ได้ใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องสงสัยที่เป็นคนผิวสี มานับครั้งไม่ถ้วน
ตำรวจใช้ความรุนแรง คือหนึ่งในสาเหตุลำดับต้นๆ การสิ้นชีพของชายผิวดำในสหรัฐฯ
ตามรายงานของการเกิดเหตุเผชิญหน้าที่ร้ายแรง ‘Fatal Encouter’ ระบุว่า นับตั้งแต่ปีค.ศ. 2000 ตำรวจในสหรัฐฯ ได้สังหารประชาชนเสียชีวิตระหว่างการเผชิญหน้าที่ร้ายแรง ถึง 1,000-2,000 รายต่อปี โดยจากข้อมูลการศึกษาที่เขียนโดย แฟรงค์ เอ็ดเวิร์ดส์ ผู้เชี่ยวชาญที่ Rutgers School of Criminal Justice ในเมืองนวร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ ระบุว่า เหยื่อที่เสียชีวิตอย่างไม่เป็นสัดส่วน ดูเหมือนเป็นคนดำ เป็นผู้ชาย และเป็นวัยรุ่น
เมื่อปี 2019 แฟรงค์ เอ็ดเวิร์ดส์ และผู้ร่วมเขียนรายงานได้วิเคราะห์ข้อมูลการเสียชีวิตจากการเผชิญหน้าที่ร้ายแรงเพื่อประเมินถึงความเสี่ยงของการเสียชีวิตในน้ำมือตำรวจ แตกต่างในเรื่องอายุ เพศ และสีผิว หรือเชื้อชาติ
การใช้ความรุนแรงของตำรวจขณะเผชิญหน้ากับผู้ต้องสงสัย เป็นสาเหตุสำคัญลำดับที่ 6 ของการเสียชีวิตของเยาวชนในสหรัฐฯ ในปี 2019 รองลงมาจากสาเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ การฆ่าตัวตาย การถูกฆาตกรรม หัวใจล้มเหลว และโรคมะเร็ง
ที่สำคัญ คือ ความเสี่ยงของเยาวชนที่จะเสียชีวิตขณะเผชิญหน้ากับตำรวจ ได้แก่เยาวชนที่มีผิวสี โดยเฉพาะเยาวชนผิวดำ
‘ชายผิวสี และวัยรุ่นผิวสี ประมาณ 1 ใน 1,000 คนถูกฆ่าตายโดยตำรวจ’ ตามรายงานการศึกษาของเอ็ดเวิร์ดส์ ซึ่งแตกตางจากสัดส่วนของชายอเมริกันที่ถูกฆ่าตายโดยตำรวจอยู่ที่ 0.52 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับชายและเยาวชนผิวดำในสหรัฐฯ
...
เดเร็ค เชาวิน เคยมีประวัติใช้ความรุนแรง
เจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนมากที่สังหารพลเรือนมีประวัติที่เคยใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องสงสัย และมีการกระทำที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งเดเร็ค เชาวิน อดีตนายตำรวจ ผู้ต้องหาในคดีการตายของจอร์จ ฟลอยด์ด้วย
มีบทความเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงของตำรวจ หลังการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ เขียนโดย จิล แม็คคอร์เกล นักวิชาการด้านคดีอาญาในสหรัฐฯ ระบุว่า เดเร็ค เชาวิน ได้กระทำการอย่างไม่เหมาะสมอย่างน้อย 18 ครั้งจนถูกร้องเรียน และมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุยิงปืนอีก 2 ครั้งด้วย
เมื่อปี 2006 นายเชาวิน เป็นหนึ่งใน 6 เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ขับรถไล่ตามจับกุมนาย เวนน์ เรเยส ที่ขับรถหลบหนี หลังตำรวจในเมืองมินนิแอโพลิสได้รับแจ้งเหตุมีการแทงกันที่หน้าร้ายขายยา จนต่อมา นายเรเยสถูกอ้างว่า ได้ลงจากรถพร้อมอาวุธปืน ทำให้เขาถูกตำรวจยิงจนเสียชีวิต และผลการชันสูตรศพพบว่านายเรเยสได้ถูกยิงถึง 23 นัด ทว่าคณะลูกขุนไม่ได้ตัดสินเจ้าหน้าที่ตำรวจคนใดมีความผิด
...
ลุ้นคำตัดสินคดีจอร์จ ฟลอยด์
สำหรับคดีจอร์จ ฟลอยด์ เสียชีวิต ซึ่งมีการนัดสืบพยานตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นสัปดาห์แรก กำลังเป็นคดีที่ชาวอเมริกันติดตามด้วยความสนใจ ว่านายเชาวินจะถูกคณะลูกขุนตัดสินคดีออกมาเป็นเช่นใด หลังจากเกิดเหตุ นายเชาวิน ได้ถูกไล่ออกจากการเป็นตำรวจที่เขาทำงานอยู่ที่สำนักงานตำรวจเมืองมินนิแอโพลิสมานานนับ 18 ปี
นายเชาวินได้ถูกควบคุมตัวดำเนินคดี 3 ข้อหาฆ่าจอร์จ ฟลอยด์ จากนั้น ในเดือนตุลาคม 2563 ศาลได้อนุญาตให้นายเชาวินได้รับการประกันตัว ด้วยการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันเงิน 1 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 30 ล้านบาท
...
สำหรับคณะลูกขุน 14 คนในคดีนี้ ประกอบด้วยผู้หญิง 9 คน และผู้ชาย 5 คน โดยในจำนวนลูกขุน 14 คน เป็นหญิงผิวขาว 6 คน ชายผิวสี 3 คน หญิงเชื้อชาติอื่น 2 คน ชายผิวขาว 2 คน และหญิงผิวสี 1 คน
ในช่วงสัปดาห์แรกของการนัดสืบพยาน ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 29 มีนาคม มีทั้งทีมแพทย์ฉุกเฉิน คนเห็นเหตุการณ์ และแฟนสาวของฟลอยด์ อยู่ในจำนวนพยานที่มาให้การต่อคณะลูกขุน โดยอัยการ เจอร์รีย์ แบล็คเวลล์ ได้กล่าวเปิดคดีว่า นายเชาวิน ‘เป็นผู้ทรยศต่อตราสัญลักษณ์ตำรวจของเขาเอง’ และกล่าวหาเชาวินว่า ใช้กำลังเกินกว่าเหตุและไม่สมเหตุสมผล
ขณะที่ทีมทนายของฝ่ายจำเลย โต้แย้งถึงสาเหตุที่ทำให้ฟลอยด์เสียชีวิตว่า เนื่องจากเขาใช้ยาเกินขนาด และมีสุขภาพไม่ดี ซึ่งการใช้กำลังในการจับกุมฟลอยด์ถือว่ามีความเหมาะสม
คณะลูกขุนในศาลได้มีการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดขณะที่ฟลอยด์อยู่ในร้านขายของชำ ‘Cup Foods’ ในเมืองมินนิแอโพลิส ซึ่งเขาถูกพนักงานขายกล่าวหาว่าใช้ธนบัตรปลอมใบละ 20 ดอลลาร์มาซื้อบุหรี่ จนโทร.แจ้งตำรวจให้มาจับกุม
คริสโตเฟอร์ มาร์ติน พนักงานในร้านขายของชำแห่งนี้ ให้การว่า ฟลอยด์ดูเหมือนไม่รู้ว่าธนบัตรที่เขานำมาซื้อบุหรี่เป็นธนบัตรปลอม เขาได้มองดูฟลอยด์ถูกตำรวจจับกุม “ด้วยความไม่เชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้น และรู้สึกผิด”
ส่วนทีมแพทย์ฉุกเฉินสองคนที่มายังที่เกิดเหตุกับรถพยาบาล ให้การว่าเมื่อมาถึง “คลำชีพจรของฟลอยด์ไม่เจอและเขาไม่หายใจแล้ว..”
‘ชีวิตคนผิวสีก็มีความหมาย’ #Blacklivesmatter คือสโลแกนที่ชาวอเมริกันใช้ในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับฟลอยด์ และกำลังติดตามการตัดสินคดีนี้ ด้วยความรู้สึกต่อต้านโกรธแค้นตำรวจที่เกาะกุมในใจมากขึ้นเรื่อยๆ
ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์
ที่มา : BBC, theconversation, CNN
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง