- ชาติยุโรปกำลังรับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ทำให้หลายประเทศต้องเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการควบคุม ฝรั่งเศสถึงขั้นต้องล็อกดาวน์ทั่วประเทศ
- หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ไวรัสกลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้ง คือไวรัสกลายพันธ์ุ ซึ่งทำให้การติดต่อง่ายขึ้น รวมทั้งสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ด้วย
- อีกปัจจัยคือ ความเหนื่อยล้าจากการระบาด ของผู้คนที่ต้องทนอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเป็นเวลานาน ทำให้พวกเขาหย่อนยานต่อการเว้นระยะห่าง หรือมาตรการควบคุมอื่นๆ
ชาติยุโรปกำลังเผชิญการระบาดระลอกที่ 3 ของไวรัสโควิด-19 พวกเขาพบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในแต่ละวันสูงจนรัฐบาลของหลายประเทศต้องออกมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ ขณะที่ฝรั่งเศสถึงขั้นต้องประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศเป็นครั้งที่ 3
สาเหตุที่ทำให้การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในยุโรปกลับมารุนแรงอีกครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเชื้อกลายพันธ์ุ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธ์ุอังกฤษหรือแอฟริกา ซึ่งสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ และทำให้การติดต่อง่ายขึ้น ซึ่งกำลังแพร่กระจายและกำลังจะกลายเป็นไวรัสสายพันธ์ุหลักที่แพร่ระบาดในยุโรป
อีกปัจจัยคือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “ความเหนื่อยล้าจากการระบาด” หรือ “Pandemic fatigue” ของผู้คนที่ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเป็นเวลานาน จนหย่อนยานต่อการเว้นระยะห่าง หรือมาตรการควบคุมอื่นๆ ซึ่งนี่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ช่วยหนุนส่งให้ไวรัสโคโรนาระบาดในยุโรปมากขึ้นครั้งนี้
...
สถานการณ์โควิดในยุโรป
ตามการเปิดเผยขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา จำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ในยุโรปตอนนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 รายต่อสัปดาห์แล้ว สูงยิ่งกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ชาติยุโรปหลายประเทศต้องกลับมาใช้หรือขยายมาตรการล็อกดาวน์ออกไป
เยอรมนีขยายมาตรการเว้นระยะห่างเข้มงวด และบังคับสวมหน้ากากป้องกันไปจนถึง 18 เม.ย. ส่วนฝรั่งเศสประกาศล็อกดาวน์แบบจำกัดทั่วประเทศเป็นครั้งที่ 3 ปิดร้านค้าและโรงเรียนนาน 3 สัปดาห์ ห้ามคนออกจากบ้านไกลเกิน 10 กม. ควบคู่ไปกับมาตรการเคอร์ฟิวตั้งแต่เวลา 19:00-06:00 น.
ร้านค้า, โรงเรียน และร้านอาหารในหลายเมืองของอิตาลี รวมทั้งกรุงโรมและเมืองมิลานต้องปิดบริการ และจะล็อกดาวน์ทั่วประเทศในช่วงวันหยุดอีสเตอร์ 3-5 เม.ย.นี้ ส่วนกรีซซึ่งประกาศก่อนหน้านี้ว่าวางแผนจะต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อนของยุโรป ก็ต้องเพิ่มมาตรการควบคุมในจุดที่ไวรัสระบาดหนัก เช่น กรุงเอเธนส์ ขณะที่สเปนประกาศใช้มาตรการควบคุมเข้มงวดไปก่อนหน้านี้แล้ว และลากยาวไปถึงเดือนพฤษภาคม
มาตรการทั้งหมดทั้งมวลนี้จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชาวยุโรปที่กำลังเหนื่อยล้าจากการระบาด เนื่องจากพวกเขาต้องถูกจำกัดอิสรภาพมานานถึง 1 ปีแล้ว
ไวรัสกลายพันธ์ุระบาดยุโรป
ชาติยุโรปหลายประเทศที่กำลังเผชิญการระบาดระลอกที่ 3 อยู่ตอนนี้ เคยเป็นหนึ่งในชาติที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาเมื่อช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 แต่ตอนนี้ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปหมด และหนึ่งในสาเหตุคือการปรากฏตัวของไวรัสกลายพันธ์ุ
ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งยุโรป (ECDC) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ระบุว่า 48 จากทั้งหมด 53 ประเทศในทวีปยุโรปรายงานพบไวรัสโควิด-19 กลายพันธ์ุที่เรียกว่า ‘B.1.1.7’ ซึ่งถูกพบเป็นครั้งแรกในอังกฤษแล้ว โดยไวรัสสายพันธ์ุนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่า มีการติดต่อของโรคสูงกว่าสายพันธ์ุปกติถึง 50% และกำลังเข้ามาแทนที่ไวรัสตัวเก่าที่ระบาดในยุโรป ทำให้มาตรการรับมือเดิมใช้ได้ผลน้อยลง
หลายประเทศที่ไวรัส B.1.1.7 กลายเป็นเชื้อสายพันธ์ุหลักในการระบาดแล้ว จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสูงขึ้น จนระบบสาธารณสุขต้องแบบรับภาระหนัก ซึ่งแคว้นลอมบาร์ดี ของอิตาลี เป็นตัวอย่างที่ดีของกรณีนี้ โดยในปัจจุบัน ผู้ป่วยในห้องไอซียูกว่า 2 ใน 3 เป็นผู้ติดเชื้อสายพันธ์ุอังกฤษ
นอกจากนั้น ยังมีไวรัสกลายพันธ์ุอีกชนิดที่เรียกว่า ‘B1.351’ ซึ่งพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ มีการกลายพันธ์ุที่ยีนตำแหน่ง E484k ทำให้มันมีความสามารถหลบภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีน หรือการติดเชื้อครั้งก่อน โดยพบในหลายประเทศในยุโรป เช่น สเปน, เยอรมนี, ฝรั่งเศส และอิตาลี แต่มีจำนวนน้อยกว่าสายพันธ์ุอังกฤษ
...
ความเหนื่อยล้าจากการระบาด
ความเหนื่อยล้าจากการระบาด เป็นภาวะที่องค์การอนามัยโลกให้คำนิยามไว้ว่า “ความรู้สึกหมดกำลังใจที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อปกป้องตนเองและคนอื่นจากไวรัส” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายมากขึ้นได้
เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดร.ฮานส์ คลูเกอ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคยุโรป เรียกร้องให้รัฐบาลยุโรปเผชิญหน้ากับประชาชนของตัวเองมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ความเหนื่อยล้าจากการระบาด ทำให้มาตรการเว้นระยะห่างต้องหยุดชะงักลง
ขณะที่ผลการศึกษาซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารสมาคมแพทย์อเมริกัน (JAMA) เมื่อ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ชี้ว่าความเหนื่อยล้าจากการระบาด ส่งผลต่อการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 จริง โดยจากการสำรวจพบว่าในเดือนเมษายนปีก่อน มีผู้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันราว 70% แต่กลับลดเหลือเพียง 50% ในเดือนมิถุนายน ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็นราว 60% ในช่วงวันขอบคุณพระเจ้าเมื่อ 26 พ.ย.
สำหรับในยุโรป ความเหนื่อยล้าที่ต้องทำตามมาตรการควบคุมโควิด-19 นั้น สะสมมาตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่พวกเขากำลังเผชิญการระบาดระลอกที่ 2 ช่วงเดือนตุลาคมแล้ว หลักฐานคือเกิดการประท้วงต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์ขึ้นในหลายประเทศรวมถึง อิตาลี, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ออสเตรีย, เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์ และสเปน (มาตรการล็อกดาวน์ล่าสุดก็ทำให้เกิดการประท้วงทั่วยุโรปเช่นกัน)
ไม่เพียงเท่านั้น หลังจากวัคซีนต้านโควิด-19 พัฒนาเสร็จและได้รับอนุมัติใช้งานฉุกเฉินในเดือนธันวาคม รัฐบาลชาติยุโรปก็เริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ลง สร้างความหวังให้ประชาชนจนอาจทำให้พวกเขาหย่อนยานต่อมาตรการป้องกันมากขึ้นไปอีก กระทั่งเกิดการระบาดระลอกที่ 3 และยุโรปก็ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดอีกครั้ง
ผู้เขียน: H2O
ที่มา: aljazeera, everydayhealth, bbc
...