• สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกที่ออกมาตรการตอบโต้การรัฐประหารในพม่า โดยอายัดทรัพย์สิน (หากมีอยู่ในสหรัฐฯ) ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร

  • เงินสำรองของรัฐบาลพม่าประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ ที่ฝากเอาไว้ในธนาคารของสหรัฐฯ ถูกอายัด

  • รัฐบาลสหรัฐฯ เชื่อว่า การคว่ำบาตรครั้งนี้จะไม่ผลักดันให้พม่าเข้าไปหาจีนเหมือนอย่างแต่ก่อน เพราะข่าวกรองยืนยันว่า มิน อ่อง หล่าย ไม่ค่อยชอบจีนสักเท่าไร

สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปกำลังเพิ่มมาตรการลงโทษรัฐบาลทหารพม่า หลังจากช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กองทัพ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘ตัดมาดอว์’ (Tatmadaw) ปราบปรามผู้ประท้วงอย่างหนักจนขณะนี้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 250 คน รวมทั้งเด็กและเยาวชน 20 คน และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติความรุนแรงแต่อย่างใด ท่ามกลางข้อกังขาว่า การคว่ำบาตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเศรษฐกิจ นอกจากจะไม่ส่งผลแล้ว ยังกระทบไปถึงประชาชนและเศรษฐกิจของพม่าโดยรวมอีกด้วย


สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกที่ออกมาตรการตอบโต้การรัฐประหารของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ออกคำสั่งฝ่ายบริหารเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ (10 วันหลังรัฐประหาร) เพื่ออายัดทรัพย์สิน (หากมีอยู่ในสหรัฐฯ) ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร และบุคคลสำคัญที่ได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งในสภาบริหารแห่งรัฐและในรัฐบาลพม่า


ผลที่เกิดขึ้นคือ เงินสำรองของรัฐบาลพม่าประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ ที่ฝากเอาไว้ในธนาคารของสหรัฐฯ ถูกอายัด และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศควบคุมการส่งสินค้าให้กับกระทรวงกลาโหม มหาดไทย กระทรวงกิจการชายแดน กองทัพพม่า และหน่วยงานด้านความมั่นคงอื่นๆ


บุคคลที่เป็นเป้าหมายของการคว่ำบาตรได้แก่ มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด, มินต์ ส่วย ประธานาธิบดีจากสายทหาร, เมี๊ยะ ตุน อู รัฐมนตรีกลาโหม, ติน อ่อง ซาน รัฐมนตรีโทรคมนาคมและขนส่ง, เย วิน อู เลขาธิการร่วมสภาบริหารแห่งรัฐ, และ อ่อง ลิน เด เลขาธิการสภาบริหารแห่งรัฐ และเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ทางการสหรัฐฯ เพิ่มรายชื่อ โม มินต์ ตุน และ หม่อง หม่อง จ่อ ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาบริหารแห่งรัฐเข้ามาอีก

...


วันที่ 4 มีนาคม กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ควบคุมการขายสินค้าให้กับบริษัทธุรกิจของกองทัพ คือ ยูเนียนออฟเมียนมาอีโคโนมิคโฮลดิ้งส์ (Union of Myanmar Economic Holdings) และเมียนมาอีโคโนมิคคอร์ปอเรชั่น (Myanmar Economic Corporation)


วันที่ 10 มีนาคม กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ประกาศอายัดทรัพย์ (หากมีในสหรัฐฯ) ของลูกชายและลูกสาว มิน อ่อง หล่าย คือ อ่อง แป โซน และ ขิ่น ทิริ เท็ต มน ซึ่งมีธุรกิจมากมายในพม่า


วันที่ 22 มีนาคม สหรัฐฯ ประกาศขึ้นบัญชีดำหน่วยทหารของกองทัพพม่า 2 หน่วยคือ กองพลทหารราบที่ 33 และ 77 พร้อมด้วยผู้บัญชาการตำรวจ ถั่น หล่าย และผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษ อ่อง โซ ซึ่งมีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งปราบปรามผู้ประท้วง


และล่าสุดมีรายงานข่าวอีกว่า สหรัฐฯ กำลังยังเตรียมกดดันด้วยการออกมาตรการคว่ำบาตรบริษัทของกองทัพ ยูเนียนออฟเมียนมาอีโคโนมิคโฮลดิ้งส์ และเมียนมาอีโคโนมิค มากขึ้นกว่าเดิม


สหภาพยุโรปใช้เวลานานกว่าสหรัฐฯ เป็นเดือน กว่าจะประกาศเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ออกมาตรการลงโทษนายทหาร 11 คนที่เกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจ ซึ่งบุคคลเหล่านั้นคือ มิน อ่อง หล่าย, โซ วิน, มิน ส่วย สมาชิกสภาบริหารแห่งรัฐทั้งหมด และ เต็ง โซ นายทหารที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการเลือกตั้งคนใหม่


โดยมาตรการของสหภาพยุโรปคือ ห้ามบุคคลเหล่านี้เดินทางเข้ายุโรปและอายัดทรัพย์สิน หากพบว่ามีอยู่ในอำนาจของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป


มาตรการลงโทษหรือที่เรียกว่า แซงก์ชั่น (sanction) ที่นิยมใช้กันในทางสากลโดยเฉพาะประเทศตะวันตกนั้น มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยกรีกเมื่อราวๆ 500 ปีก่อนคริสตกาล โดยใช้กับรัฐที่เป็นศัตรู ส่วนในสมัยใหม่ มาตรการลงโทษนี้ใช้กันแพร่หลายช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน


การลงโทษระหว่างประเทศมีหลายแบบ ตั้งแต่ทางการทูต ทางทหาร ไปจนถึงทางเศรษฐกิจ แต่ที่พบเห็นทั่วไปในปัจจุบันได้แก่ การลงโทษทางเศรษฐกิจ เพราะเชื่อกันว่าต้นทุนต่ำกว่าการมาตรการทางทหาร


การลงโทษทางเศรษฐกิจมีอยู่ด้วยกัน 5 ระดับคือ

  1. ห้ามการส่งออกยุทโธปกรณ์
  2. ห้ามการนำเข้าสินค้า
  3. ห้ามนำเข้าวัตถุดิบ (จากประเทศเป้าหมาย)
  4. ห้ามถ่ายทอดหรือขายเทคโนโลยี
  5. คว่ำบาตรระดับนานาชาติ


ในภาษาอังกฤษมีการใช้คำหลายคำที่ให้ความหมายอย่างเดียวกันกับการลงโทษทางเศรษฐกิจ เช่น ปิดล้อม (blockade) ห้าม (embargo) และคว่ำบาตร (boycott) ซึ่งมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจมี 2 ประเภทคือ ‘เอกภาคี’ หรือการดำเนินการฝ่ายเดียว และ ‘พหุภาคี’ หรือการดำเนินการร่วมกันหลายประเทศ อย่างแรกดำเนินการโดยประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ส่วนอย่างหลังทำโดยองค์การระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ


กรณีของพม่านั้น มีการใช้มาตรการลงโทษระหว่างประเทศแบบเอกภาคีที่ดำเนินการฝ่ายเดียวโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการลุกฮือของนักศึกษาในปี 1988, การปฏิเสธการเลือกตั้งในปี 1990, การปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์ปี 2008 เรื่อยมาจนถึงปี 2013 เมื่อพม่าเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นแบบกึ่งประชาธิปไตย ยินยอมให้มีการเลือกตั้ง และถ่ายโอนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือนที่ชนะการเลือกตั้ง


ในสมัยรัฐบาล ออง ซาน ซูจี แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง ก็มีการคว่ำบาตรกองทัพพม่าและผู้บัญชาการบางคน เช่น มิน อ่อง หล่าย และ โซ วิน เพราะเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮีนจา


อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในช่วงกว่า 2 ทศวรรษนั้น ไม่ค่อยได้ผลในทางปฏิบัติ แต่กลับส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประชาชนทั่วไปมากกว่าผลประโยชน์ของกองทัพ แถมยังทำให้บริษัทเอกชนของทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และชาติที่สามซึ่งเป็นพันธมิตร ขาดโอกาสทางการค้าการลงทุนในพม่า ปล่อยให้โอกาสทางเศรษฐกิจเหล่านั้นไปตกอยู่ในมือจีนและกลุ่มอาเซียน

...


แต่ครั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ เชื่อว่า การคว่ำบาตรจะไม่ผลักดันให้พม่าเข้าไปหาจีนอีก เพราะข่าวกรองยืนยันว่า มิน อ่อง หล่าย ไม่ค่อยชอบจีนสักเท่าไร เพราะเห็นว่าสูบทรัพยากรพม่าไปมากแล้วในช่วง 2 ทศวรรษก่อน ที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของจีนจำนวนมากถูกทบทวนในสมัยรัฐบาล เต็ง เส่ง ซึ่งมีกองทัพหนุนหลัง


ด้านสหภาพยุโรปแถลงว่า มาตรการคว่ำบาตรพม่าครั้งล่าสุดจะกระทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนธรรมดาน้อยที่สุด มุ่งต่อเป้าหมายที่ชัดเจนคือ บรรดานายพลที่อยู่ในอำนาจ รวมถึงพวกพ้องบริวารที่ทำธุรกิจกับกองทัพอยู่


แต่ก็อีกนั่นแหละ เนื่องจากว่านายพลและพวกพ้อง รวมตลอดถึงบริษัทของกองทัพทั้งหลายควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพม่าจำนวนมาก โอกาสที่จะคว่ำบาตรพวกนี้โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจโดยรวม จึงมีไม่มากนัก