พี่น้องต้องรักกัน!! เป็นคำสอนของพ่อแม่ทุกบ้านที่คอยปลูกฝังลูกๆมาตั้งแต่เด็ก แต่ถามจริงๆเถอะค่ะ มีพ่อแม่คนไหนจะกล้ายอมรับบ้างว่าปมลึกๆที่พี่น้องแท้ๆคลานตามกันมาต้องทะเลาะกัน และกินแหนงแคลงใจ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะความลำเอียงของพ่อแม่ที่รักลูกไม่เท่ากัน!!
ความจริงที่ไม่มีใครกล้าขุดคุ้ยให้เกิดรอยร้าวในครอบครัว ทั้งๆที่รู้กันอยู่แก่ใจ เพิ่งถูกนำมาตีแผ่อย่างถึงกึ๋นโดยนักเขียนชื่อดังชาวมะกัน เจฟฟรีย์ คลูเกอร์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส และนักเขียนอาวุโสนิตยสารไทม์ โดยเขาใช้เวลาค้นคว้าศึกษานานหลายปีกว่าจะรวบรวมข้อมูล มาเขียนหนังสือ “THE SIBLING EFFECT” เผยให้เห็นถึงก้นบึ้งของจิตใจคนเป็นพ่อแม่
มีการระบุชัดเจนในหนังสือเบสต์เซลเลอร์ว่า 95% ของพ่อแม่ทั้งโลกรักลูกไม่เท่ากัน และมักจะโอ๋ลูกคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ขณะที่พ่อแม่อีก 5% เป็นพวกโกหกตัวเอง แม้แต่ตัวผู้เขียนยังยอมรับว่าเขากับภรรยาก็มีความลำเอียงไม่ต่างจากพ่อแม่ทั่วไป เพียงแต่เป็นเรื่องต้องห้ามที่ไม่ควรให้หลุดจากปากคนเป็นพ่อแม่
จากผลการศึกษาข้อมูลแบบเจาะลึก ทำให้ค้นพบว่าลูกชายคนโตจะเป็นที่โปรดปรานของแม่โดยธรรมชาติ ขณะที่ลูกสาวคนเล็ก ซึ่งมีแนวโน้มขี้อ้อน มักได้รับการโอ๋จากพ่อ สำหรับลูกคนกลาง หรือเวนส์เดย์ ชายด์ ซึ่งมักน้อยอกน้อยใจว่าไม่ได้รับความรักความสนใจจากพ่อแม่ มีผลวิจัยยืนยันว่า ถ้าไม่โชคดีเกิดมาเป็นลูกชายคนเดียว หรือลูกสาวคนเดียวของบ้าน พวกลูกคนกลางก็ไม่มีทางซะหรอกที่จะขึ้นทำเนียบลูกรัก
อย่างไรก็ดี “เจฟฟรีย์” ตั้งข้อสังเกตว่า นิสัยใจคอที่แตกต่างกันของพี่น้อง ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พ่อแม่รักลูกคนหนึ่งคนใดมากเป็นพิเศษ นอกเหนือจากความลำเอียงที่จะรักลูกชายมากกว่าลูกสาว เพราะหวังฝากผีฝากไข้ด้วยในอนาคต โดยพ่อแม่มีแนวโน้มจะรักจะหลงลูกคนที่มีบุคลิกลักษณะใกล้เคียงกับตัวเองมากที่สุด เนื่องจากทำให้ย้อนนึกถึงตัวเองในช่วงวัยเด็ก
และพ่อแม่เกือบทั้งโลกยังมีธรรมชาติเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ มักจะให้ความรักความเอาใจใส่กับลูกคนที่อ่อนแอเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกรณีที่ลูกเจ็บป่วยออดๆแอดๆมาตั้งแต่เด็ก สำหรับบ้านที่มีลูกชายหลายคน พ่อแม่มีแนวโน้มจะปลื้มลูกชายที่เรียนเก่งและเอาถ่านที่สุดในบ้าน เพราะถือเป็นหน้าเป็นตาของครอบครัว ยิ่งถ้าทำชื่อเสียงให้วงศ์ตระกูลล่ะก็ รับรองว่า มรดกมีเท่าไหร่พ่อแม่ก็เต็มใจยกให้พ่อเจ้าประคุณทูนหัวคนเดียว
ไม่เชื่อไปถามพ่อแม่ตระกูลดังๆก็ได้ แต่ละบ้านล้วนมีลูกชายคนโปรดทั้งนั้น และเป็นที่เปิดเผยรู้กันภายในครอบครัวซะด้วย อย่างเช่น ตระกูลเคนเนดี ก็ทราบกันทั่วว่า “โจเซฟ แพททริค เคนเนดี จูเนียร์” เป็นลูกชายคนโปรดของบ้าน เขาเป็นลูกชายคนโตในจำนวนลูก 9 คนของ “โจเซฟ แพททริค เคนเนดี” อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหราชอาณาจักร ได้รับการประคบประหงมมาตั้งแต่เล็ก โดยถือเป็นความหวังของครอบครัว ซึ่งพ่อหมายมั่นปั้นมือว่าวันหนึ่งจะต้องเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กระนั้น เมื่อเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น ลูกชายคนโปรดของบ้านเสียชีวิตในสมรภูมิรบระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะอายุแค่ 29 ปี ทำให้ลูกชายคนที่ 2ของครอบครัว คือ “จอห์น เอฟ เคนเนดี” เขยิบเลื่อนฐานะขึ้นมาเป็นดาวเด่นของบ้านแทน และตัวสำรองอย่างเขานี่เอง ที่ทำความฝันของพ่อให้เป็นจริง ด้วยการพิชิตตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกามาครอง แม้ภายหลังจะถูกลอบสังหาร และนำความโศกเศร้ามาสู่ครอบครัวอีกครั้งก็ตาม
ตระกูลนักการเมืองทรงอิทธิพลที่สุดอีกตระกูลหนึ่งของอเมริกา เช่น ตระกูลบุช ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของปรากฏการณ์พี่น้องไม่รักกัน แม้อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช จะเป็นลูกชายคนโตของบ้าน แต่เอาเข้าจริงๆแล้วกลับไม่ใช่ลูกชายคนโปรดสักเท่าไหร่ เพราะอดีตประธานาธิบดี จอร์จ บุช ผู้พ่อ ปลื้มในตัวลูกชายคนที่ 2 คือ “เจฟ บุช” ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐฟลอริดาคนปัจจุบันมากกว่า เนื่องจากลูกชายคนนี้ทั้งฉลาดและเรียนเก่งมาตั้งแต่เด็กๆ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ประสบความสำเร็จไปซะหมด จึงเป็นที่พึ่งของพ่อแม่ และได้รับความไว้วางใจให้ดูแลกิจการครอบครัว ผิดกับลูกชายคนโตที่ไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอยสักเท่าไหร่ เพิ่งจะมาคลำทางถูกก็ตอนเล่นการเมืองระดับชาติ
อ่านมาถึงตรงนี้ คนที่เกิดเป็นลูกสาว หรือลูกคนกลาง อย่าเพิ่งน้อยอกน้อยใจไป ถึงจะไม่ใช่ลูกสุดที่รักของพ่อแม่ แต่เชื่อเถอะค่ะว่า ไม่มีพ่อแม่คนไหนไม่รักลูกตัวเอง แม้จะรักไม่เท่ากันก็เหอะ!!
...
มิสแซฟไฟร์