1 มีนาคม 1981 คือวันแรกที่ บ็อบบี แซนด์ส เริ่มต้นการอดอาหาร เขาอยู่ในฐานะ ‘อาชญากร’ ของอังกฤษ

66 วันผ่านไป คือวันสุดท้ายของ บ็อบบี แซนด์ส เขาจบชีวิตในฐานะ ‘วีรบุรุษ’ ของไอร์แลนด์

นี่คือเรื่องราวของ บ็อบบี แซนด์ส จากขบวนการ IRA และการอดอาหารประท้วงเพื่อยืนยันสิทธิว่า ‘นักโทษการเมือง’ ไม่ใช่ ‘อาชญากร’

จากความขัดแย้งทางศาสนาสู่ขบวนการ IRA

โรเบิร์ต เจอราร์ด 'บ็อบบี' แซนด์ส เกิดเมื่อปี 1954 ครอบครัวเป็นชาวคาทอลิกในราธคูล (Rathcoole) ชุมชนเคร่งครัดโปรแตสแตนต์ของเบลฟาสต์ ด้วยความแตกต่างทางความเชื่อของนิกาย ครอบครัวแซนด์สถูกขับไล่ กดดัน คุกคาม จนต้องย้ายที่อยู่หลายต่อหลายครั้ง


ครอบครัวแซนด์สย้ายมาอยู่ในย่านทวินบรูค (Twinbrook) บ็อบบี แซนด์ส เบนเข็มเข้าสู่ขบวนการสาธารณรัฐเมื่ออายุ 18 ปี ไม่นานจากนั้นก็ได้เป็นสมาชิกกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (Provisional Irish Republic Army: PIRA) ขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของไอร์แลนด์ฝ่ายหัวรุนแรง แยกตัวออกมาจาก IRA เดิมที่ยุติปฏิบัติการไปในปี 1969

หลังถูกจับครั้งแรกในปี 1972 จากข้อหาครอบครองอาวุธปืน 4 กระบอก และมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการ IRA บ็อบบี แซนด์ส ต้องโทษจำคุก 3 ปี กับ ‘สถานะพิเศษ’ (Special Category Status: SCS) ซึ่งนักโทษการเมืองได้รับการปฏิบัติเหมือนเชลยสงคราม สวมชุดพลเรือน มีกิจกรรมสันทนาการ สามารถพบปะพูดคุยกับนักโทษสถานะเดียวกันได้อย่างอิสระ

เพราะมีสิทธิในการหาความรู้ แซนด์สเริ่มศึกษาภาษาไอริชท้องถิ่น อ่านหนังสือการเมืองฝ่ายซ้ายหลายเล่ม ทั้ง จอร์จ แจ็คสัน, ฟรานต์ซ ฟานอน และ เช เกวารา เช่นเดียวกับนักสังคมนิยมไอริช เจมส์ คอนนอลลี ซึ่งหล่อหลอมมาเป็นแนวคิดทางการเมืองแบบสังคมนิยมของฝ่ายสาธารณรัฐ

...

สถานะพิเศษที่เปลี่ยนไป

ไม่นานหลังได้รับอิสรภาพ ปี 1977 แซนด์สถูกจับอีกครั้ง ไม่ไกลจากการก่อเหตุระเบิดร้านเฟอร์นิเจอร์โดยขบวนการ IRA ความผิดตามคดีคือครอบครองอาวุธปืน ไม่ใช่วางระเบิด แต่โทษจำคุกครั้งที่ 2 ระยะเวลาของมันยาวนานถึง 14 ปี

ความแตกต่างอีกประการคือ ปี 1976 รัฐบาลอังกฤษเปลี่ยนแปลงนโยบาย ยกเลิก ‘สถานะพิเศษ’ ให้กลายเป็นคดีอาชญากรรม ไม่ใช่การต่อสู้ทางการเมือง โดยพุ่งเป้าไปที่ขบวนการ IRA ทำให้ผู้ก่อเหตุไอริชกลายเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ และมีสถานะเป็น ‘อาชญากร’ ที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรง สามารถทำการสอบสวนและควบคุมตัวได้โดยไม่ตั้งข้อกล่าวหา

บ็อบบี แซนด์ส ถูกส่งตัวไปยังเรือนจำเมซ (Her Majesty's Prison Maze หรือ H-Blocks) กระทั่งเป็นผู้ทรงอิทธิพล ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการ IRA ในเรือนจำ และเป็นแกนนำประท้วงให้ได้สถานะพิเศษที่ ‘นักโทษการเมือง’ ไม่ใช่ ‘อาชญากร’

การประท้วงเรื่องสถานะพิเศษเกิดขึ้น 2 ครั้งใหญ่ๆ ปี 1976 นักโทษนุ่งผ้าห่มแทนการสวมเครื่องแบบ และปี 1978 ปฏิเสธการอาบน้ำ ทำความสะอาด และใช้อุจจาระป้ายทั่วผนังห้องขัง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ

การประท้วงถูกยกระดับขึ้นไปสู่การอดอาหาร ตุลาคม 1980 นักโทษ 7 คนเริ่มอดอาหารประท้วง และยื่นข้อเสนอเรียกร้องสิทธิของนักโทษ 5 ข้อ ได้แก่

  1. สิทธิในการไม่ต้องสวมเครื่องแบบนักโทษ
  2. สิทธิในการปฏิเสธการทำงานของนักโทษ
  3. สิทธิในการมีปฏิสัมพันธ์ในหมู่นักโทษด้วยกัน จัดการศึกษา และกิจกรรมสันทนาการ
  4. สิทธิในการเข้าเยี่ยม 1 ครั้ง รับจดหมาย 1 ฉบับ และรับพัสดุ 1 ชิ้น ต่อสัปดาห์
  5. ให้อภัยโทษสำหรับการประท้วง

อย่างไรก็ตาม การประท้วงครั้งนี้สิ้นสุดลงหลังผ่านไป 53 วัน และเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลอังกฤษเพิกเฉย

การอดอาหารครั้งที่ 2

บ็อบบี แซนด์ส ไม่ได้เข้าร่วมการอดอาหารครั้งแรกโดยตรง แต่ยังเป็นแกนนำและโฆษกของกลุ่มนักโทษ IRA เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ Sinn Fein ในนามปากกา ‘Marcella’ เริ่มแต่งกวีของตัวเอง เล่าเรื่องราวต่างๆ เพื่อสร้างความบันเทิงร่วมกับมิตรสหายด้วยภาษาท้องถิ่นไอริช (Gaelic) และสนใจศึกษาปักษีวิทยาจากการเฝ้ามองนกผ่านหน้าต่างเรือนจำ

การอดอาหารประท้วงรอบที่ 2 เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 1981 โดย บ็อบบี แซนด์ส เป็นแกนนำ ปฏิเสธอาหารทุกอย่าง ยกเว้นน้ำกับเกลือ ครั้งนี้มีนักโทษเข้าร่วมหลายคน ด้วยความหวังว่าจะดึงความสนใจจากสาธารณชนให้เห็นถึงปัญหาของนักโทษการเมืองในเรือนจำมากขึ้น

ผ่านไปเพียงไม่กี่วัน แฟรงค์ แมไกวร์ สมาชิกสภาฯ อังกฤษจากเขตเลือกตั้งเฟอร์มานาห์และเซาธ์ไทโรน (Fermanagh and South Tyrone) หัวใจวายเสียชีวิตกะทันหัน จึงต้องมีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่เพื่อหาผู้แทนในตำแหน่งที่ว่างลง และ บ็อบบี แซนด์ส ซึ่งถูกส่งชื่อในนามตัวแทนกลุ่ม Anti-H Block ของนักโทษเรือนจำเมซก็เป็นผู้ชนะเหนือ แฮร์รี เวสต์ จาก Ulster Unionist Party โดยได้คะแนนโหวตจากเขตเลือกตั้งในไอร์แลนด์เหนือไปมากกว่า 30,000 เสียง

เท่ากับว่า บ็อบบี แซนด์ส -ผู้ต้องขังในเรือนจำ- กำลังจะได้เข้าสู่สภาสามัญ (House of Commons) ของอังกฤษ

สมาชิกสภาฯ ผู้ใช้ชีวิตวันสุดท้ายในเรือนจำ

บ็อบบี แซนด์ส มีสถานะเป็นสมาชิกสภาฯ แต่ไม่มีโอกาสได้เข้าสภาฯ และแทนที่ตำแหน่งทางการเมืองจากการเลือกตั้งจะเพิ่มแรงกดดันรัฐบาล แต่สถานการณ์กลับแย่ลง มาการ์เรต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษขณะนั้น แถลงชัดเจนว่าไม่ต้องการเจรจาใดๆ พร้อมดับความหวังของนักโทษ IRA ด้วยประโยคที่ว่า

“เราไม่ได้เตรียมการพิจารณาสถานะพิเศษสำหรับกลุ่มคนที่ต้องโทษจำคุกในข้อหาอาชญากรรม” และ “อาญชากรรมคืออาชญากรรม... คืออาชญากรรม มันไม่ใช่เรื่องการเมือง”

การอดอาหารประท้วงของ บ็อบบี แซนด์ส จึงดำเนินต่อไป พระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ได้ส่งข้อความร้องขอให้ยุติการอดอาหาร แต่ก็ถูกปฏิเสธปฏิเสธ กระทั่ง 3 พฤษภาคม เขาอยู่ในสภาพโคม่าจนต้องถูกย้ายไปอยู่ในโรงพยาบาลของเรือนจำ ครอบครัวได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยม

วันที่ 5 พฤษภาคม บ็อบบี แซนด์ส เสียชีวิตด้วยวัย 27 ปี หลังอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 66 วัน

...

อาชญากรของอังกฤษ วีรบุรุษของไอร์แลนด์

หลังมรณกรรมของ บ็อบบี แซนด์ส ผู้คนนับแสนทั่วโลกออกมาเดินขบวนสนับสนุนข้อเสนอของนักโทษในเรือนจำ รัฐบาลสหรัฐฯ แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง สหภาพแรงงานไอร์แลนด์สไตรค์ เกิดจลาจลบนท้องถนนไอร์แลนด์เหนือ หนังสือพิมพ์หลายฉบับประณามความใจหินของแธตเชอร์ ที่ปล่อยให้สมาชิกสภาฯต้องจบชีวิตในเรือนจำ

ด้วยเสียงเรียกร้องจากครอบครัวนักโทษและกลุ่มคาทอลิก การอดอาหารประท้วงของกลุ่มนักโทษที่เหลือยุติลงในวันที่ 3 ตุลาคม 1981 ไม่นานจากนั้น รัฐบาล มาการ์เรต แธตเชอร์ ยินยอมทำตามข้อเรียกร้อง นักโทษสามารถสวมชุดพลเรือน มีสิทธิรับจดหมาย และสิทธิการเข้าเยี่ยม มีปฏิสัมพันธ์ทำกิจกรรมต่างๆ ในเรือนจำได้ตามสมควร และไม่ต้องรับโทษร้ายแรงหากปฏิเสธการทำงาน

งานศพของ บ็อบบี แซนด์ส 7 พฤษภาคม 1981 มีผู้คนเข้าร่วมมากกว่า 100,000 คน แม้อังกฤษจะเรียกว่าอาชญากร แต่สำหรับชาวไอริช เขาได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษ และยังมีการจัดงานรำลึกถึงในวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี