สถาบันสาธารณสุขชั้นนำในบราซิลเตือน ระบบสาธารณสุขส่อพังทลาย ห้องไอซียูตามเมืองใหญ่ในรัฐต่างๆ ใกล้เต็ม จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 พันธ์ุใหม่

สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า สถาบัน ‘ออสวัลโด ครูซ ฟาวน์เดชัน’ หรือ FIOCRUZ สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพชั้นนำในบราซิล เปิดเผยในวันพุธที่ 10 มี.ค. 2564 ว่า ระบบสาธารณสุขในเมืองใหญ่เกือบทุกแห่งในประเทศ ใกล้ที่จะพังทลายแล้ว เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

FIOCRUZ เผยว่า เตียงห้องไอซียูของโรงพยาบาลต่างๆ ในเมืองเอกของ 25 รัฐจาก 27 รัฐทั่วประเทศ ถูกใช้งานไปแล้วกว่า 80% ขณะที่ ศ.เชเซม โอเรยานา นักระบาดวิทยาของ FIOCRUZ เตือนว่า ไวรัสโควิด-19 กลายพันธ์ุในบราซิลซึ่งมีอัตราการติดต่อสูง อาจจะส่งผลกระทบอย่างหนักทั้งในภูมิภาคและพื้นที่ภายนอก “บราซิลเป็นภัยต่อมนุษยชาติ” ศ.โอเรยานา กล่าว

สถานการณ์ล่าสุดในบราซิล พวกเขาพบผู้เสียชีวิตถึง 1,972 ศพเมื่อวันอังคาร ทำลายสถิติสูงสุดนับตั้งแต่การระบาดเริ่มต้นขึ้น ขณะที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 70,000 ราย สูงกว่าเมื่อสัปดาห์ก่อนถึง 38% โดยเป็นผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 กลายพันธ์ุที่ชื่อว่า ‘P1’ ซึ่งพบเป็นครั้งแรกในเมืองมานาอัส ของบราซิล

“บราซิลพ่ายแพ้ในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ในปี 2563 และไม่พบโอกาสที่จะฟื้นตัวกลับมาจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้เลยแม้แต่น้อยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564” ศ.โอเรยานา กล่าว “สิ่งที่เราทำได้คือ หวังว่าจะเกิดปาฏิหาริย์ในการกระจายวัคซีนเป็นวงกว้าง หรือเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงในการรับมือการระบาด”

...

ด้านนาง สมิธา มันดาซาด ผู้สื่อข่าวด้านสุขภาพของ บีบีซี ระบุว่า ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังกังวลว่าบราซิล จะกลายเป็น ‘ห้องทดลองธรรมชาติ’ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไวรัสโคโรนาแพร่กระจายโดยไม่มีการควบคุม หรืออาจกลายเป็นแหล่งเพาะพันธ์ุไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุใหม่ ซึ่งได้รับการผลักดันโดยภาวะขาดแคลนวัคซีน และการไม่ใช้มาตรการเว้นระยะห่างอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับไวรัส P1 ผลวิจัยเบื้องต้นจากมหาวิทยาลัย เซา เปาโล, ราชวิทยาลัยลอนดอน และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ชี้ว่า มันมีอัตราการติดต่อมากกว่าไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุดั้งเดิมถึง 2.2 เท่า และมีความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธ์ุอื่น โดยมีโอกาสที่ผู้ป่วยที่หายแล้วจะติดเชื้อ P1 ที่ 25% ถึง 60%

จนถึงตอนนี้ บราซิลสั่งซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 ไปแล้วมากกว่า 200 ล้านโดส จาก แอสตราเซเนกา และ โคโรนาแวค อย่างไรก็ตาม มีประชาชนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้วเพียง 8 ล้านคน หรือราว 4% ของประชากรทั้งหมด

นายเมาริซิโอ ซูมา หัวหน้าฝ่ายการผลิตของ FIOCRUZ เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ผลการศึกษาเบื้องต้นในวัคซีนของแอสตราเซเนกา พบว่า มันสามารถปกป้องคนจากไวรัส P1 ได้ ขณะที่ ออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้ร่วมพัฒนาวัคซีนตัวนี้ ระบุว่า วัคซีนของพวกเขาป้องกันไวรัส P1 ได้น้อยกว่าสายพันธ์ุอื่น แต้ยังป้องกันไม่ให้ป่วยหนักได้