สัปดาห์ที่แล้ว นางฟาตู เบนซูดา อัยการสูงสุดของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ประกาศว่า คณะตุลาการของศาลอาญาระหว่างประเทศจะเริ่มสอบสวนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับสถานการณ์ในฝั่งตะวันออกของนครเยรูซาเลม เขตเวสต์แบงก์ และฉนวนกาซา ซึ่งมีการก่ออาชญากรรมสงครามอย่างต่อเนื่องมานานหลายสิบปี และสอบกรณีที่อิสราเอลก่อสร้างนิคมที่อยู่อาศัยบนพื้นที่ยึดครองในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซานับตั้งแต่ชนะสงคราม 6 วัน เมื่อ พ.ศ.2510
ทันทีที่อัยการสูงสุดของศาลอาญาระหว่างประเทศแถลงการณ์เสร็จ ก็มีการกระเพื่อมในภูมิภาคตะวันออกกลางดังต่อไปนี้
นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลบอกว่า อิสราเอลเป็นเป้าหมายการโจมตีด้วยอคติจากศาลในกรุงเฮก ซึ่งศาลเหล่านี้มีทัศนคติหลอกลวงและต่อต้านชาวยิว อิสราเอลจะต่อสู้ด้วยการยืนหยัดอยู่บนความจริง และลบล้างเรื่องอื้อฉาวเหล่านี้
นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศว่า เธอสนทนา ในเรื่องนี้กับนายกฯ เนทันยาฮูแล้ว สหรัฐฯและอิสราเอลคัดค้านความพยายามของศาลอาญาระหว่างประเทศ ในการใช้อำนาจต่อบุคลากรของอิสราเอล สหรัฐฯและอิสราเอลจะยกระดับความร่วมมือในด้านความมั่นคงภูมิภาค โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอิหร่าน
ข้อเท็จจริงที่ควรทราบคือ อิสราเอลไม่ได้เป็นภาคีของธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศในการก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ ส่วนสหรัฐฯนั้นเข้าออกมาหลายครั้ง ล่าสุด มีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ สำหรับปาเลสไตน์เป็นหนึ่งในภาคีร่วมลงนาม
เรื่องการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศที่ใช้กฎหมายระหว่างประเทศเป็นพื้นฐานในการพิจารณาตัดสินโดยบุคคลที่เป็นกลางมี 2 วิธี คือศาลอนุญาโตตุลาการและศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ทั้ง 2 วิธีเป็นการระงับข้อพิพาทที่ผูกพันคู่กรณี เขียนให้เข้าใจง่ายก็คือ เมื่อมีการยอมรับอำนาจศาลแล้ว ก็จะผูกพันในการขึ้นต่อสู้คดี และเมื่อมีคำตัดสินชี้ขาดแล้ว คู่พิพาทก็ผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตาม
...
ส่วนศาลอาญาระหว่างประเทศที่นางเบนซูดาเป็นอัยการสูงสุดเป็นคนละประเภทกัน ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจผิด สมัยก่อนศาลนี้ เป็นศาลระหว่างประเทศเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาความผิดของบุคคลธรรมดา เช่น ศาลนูเรมเบิร์ก (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ศาลอาชญากรรมสงครามยูโกสลาฟ (ตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ) ศาลเฉพาะกิจเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของศาลอาญาระหว่างประเทศ
ศาลอาญาระหว่างประเทศตั้งขึ้นใหม่โดยธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ค.ศ.1998 เพื่อลงโทษบุคคลที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงที่สุด 4 ความผิด คือ อาชญากรรมอันเป็นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน
ข้อแตกต่างระหว่างศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกับศาลอาญาระหว่างประเทศอยู่ตรงที่คู่กรณี ถ้าข้อพิพาทระหว่างรัฐต่อรัฐ ก็ใช้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ถ้าจะพิจารณาเฉพาะบุคคลที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงที่สุด 4 ความผิด ก็ใช้ศาลอาญาระหว่างประเทศ
ขอรับใช้เรื่องดินแดนที่ศาลมีอำนาจหน่อยครับ คือ ศาลมีอำนาจดำเนินคดีบุคคลทุกคนที่ก่ออาชญากรรมทั้ง 4 อย่าง ในดินแดน ของประเทศที่เป็นภาคีธรรมนูญศาล รวมทั้งดินแดนของประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคี แต่ยอมรับอำนาจศาล
เรื่องที่อัยการสูงสุดของศาลอาญาระหว่างประเทศจะเริ่มการสอบสวนนายกรัฐมนตรีอิสราเอลอย่างไม่เป็นทางการ ทำให้นายกฯ เนทันยาฮูโกรธจนควันออกหู พันธมิตรที่แข็งแกร่งที่สุดของอิสราเอลก็คือสหรัฐฯ อิสราเอลทำถูก สหรัฐฯก็ชมว่าถูก อิสราเอลทำผิด สหรัฐฯก็ชมว่าถูก อิสราเอลไม่เคยผิดในสายตาสหรัฐฯ
ถ้าไม่มีอิสราเอลอยู่ในตะวันออกกลาง ประเทศอิสลามซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัฐอาหรับก็อาจจะรวมตัวกันได้และเป็นอันตรายต่อสหรัฐฯ อิหร่านเป็นประเทศอิสลามเหมือนกัน แต่เป็นพวกเปอร์เซีย ถ้าไม่มีอิสราเอลคอยกวนโน่น แกล้งนี่ อิหร่านก็สามารถพัฒนาและเติบโตจนเป็นอันตรายต่อสหรัฐฯด้วยเช่นเดียวกัน
จึงไม่แปลกใจที่นางแฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯจะออกมาคัดค้านความพยายามของศาลอาญาระหว่างประเทศ ในเวทีระหว่างประเทศนั้น บางครั้ง ความเป็นพวกก็สำคัญกว่าความถูกต้องครับ.
(ภาพ : นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล)
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com