- กระทรวงการสื่อสารเมียนมาอ้างกฎหมายควบคุมสื่อ ห้ามเรียก "รัฐบาลรัฐประหาร" ขู่ดำเนินคดีอาญา นักข่าวเสี่ยงอันตราย ถูกกวาดจับแบบรายวัน
- เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ถูกบล็อก เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวเมียนมาสื่อสารกันและนัดหมายออกมาชุมนุม ขณะที่ชาวเมียนมาหันมาใช้ VPN เพิ่มขึ้น 4,300%
- กองทัพเมียนมาสั่งผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้สัญญาณการล่มสลายของกองทัพเมียนมาในสายตาประชาชนส่อเค้าเด่นชัดขึ้น เพราะยิ่งปิดกั้นโลกออนไลน์ ชาวเมียนมาต่างยิ่งโกรธแค้นและออกมาแสดงพลังบนท้องถนนกันมากขึ้นทุกวัน ทำให้ตำรวจต้องยิ่งปราบปรามผู้ประท้วงหนักขึ้น
ควบคุมการทำงานของสื่อมวลชน
กระทรวงการสื่อสารแห่งเมียนมา ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 11 ก.พ. เรื่อง "จรรยาบรรณการรายงานข่าวของสื่อ" ส่งถึงสมาคมสื่อมวลชนเมียนมา เตือนบรรดาองค์กรสื่อ ห้ามไม่ให้เรียกรัฐบาลของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ที่เพิ่งตั้งมาจากการก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน ว่า "รัฐบาลรัฐประหาร" เพราะการเรียกแบบนั้นถือว่าเป็นการผิดจรรยาบรรณสื่อ และสื่อที่ไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาและถูกถอนใบอนุญาต ตามกฎหมายสื่อในมาตราที่ 9
แถลงการณ์ฉบับนี้สร้างความงุนงงและลำบากใจอย่างมากให้กับบรรดาสื่อมวลชนคนเขียนข่าว เพราะถ้าไม่ให้เรียกว่ารัฐบาลรัฐประหาร แล้วจะให้เรียกว่าอะไร
...
หลังแถลงการณ์ฉบับนี้ออกมา มีสมาชิกสภาสื่อมวลชนเมียนมา (Myanmar Press Council) 11 คน ลาออกจากตำแหน่ง เพราะถือว่าเป็นการกดดันกันมากเกินไป นายอู มินต์ จ่อ เลขาธิการสภาสื่อมวลชนเมียนมาบอกว่า ในฐานะเป็นสภาสื่อฯ สถานการณ์ตอนนี้ยากลำบากอย่างยิ่งที่จะปกป้องนักข่าว ซึ่งถูกจับกุมตัวแล้วปล่อย ถูกคุกคามการทำงานหนักมากขึ้นทุกวันนับตั้งแต่รัฐประหาร
ขณะที่เมียนมา ไทม์ส หนังสือพิมพ์เอกชนภาษาอังกฤษเก่าแก่ที่สุดของประเทศ ตลอดจนสื่อต่างๆ ในเครือเดียวกันของ Myanmar Consolidated Media ทั้งโซเชียลมีเดีย และทีวี รวมทั้งหมด 9 แห่ง ต้องประกาศยุติการนำเสนอข่าวชั่วคราวเป็นเวลา 3 เดือน หลังจากที่บรรณาธิการจะส่งนักข่าวไปรายงานข่าวเกี่ยวกับการแถลงข่าวของกองทัพ แต่บรรดาสื่อมวลชนต่างพากันตัดสินใจว่าจะคว่ำบาตรไม่เสนอข่าวใดๆ ของกองทัพและรัฐบาลรัฐประหารอย่างพร้อมเพรียง
ก่อนหน้านี้มีสื่อมวลชนชาวต่างชาติอยู่ระหว่างถูกควบคุมตัวจำนวน 4 คน ได้แก่ Ko Ko Lay หัวหน้าฝ่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Monywa Gazette สื่อท้องถิ่นของเมืองโมนยวา Ko Thein Zaw ผู้สื่อข่าวของ AP Ma Kay Zune Nway ผู้สื่อข่าวของ Myanmar Now และ Ko Ye Myo Khant ผู้สื่อข่าว Myanmar Press Agency
ขณะที่การกวาดจับสื่อมวลชนที่ไปรายงานข่าวการประท้วงยังดำเนินต่อไปไม่จบสิ้น ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 27 ก.พ. โซเชียลมีเดียแชร์ภาพตำรวจนอกเครื่องแบบรุมซ้อม ทำร้ายร่างกายก่อนจับกุมตัวนาย Kyaw Kyaw Win ซีอีโอของ Monywa Gazette ระหว่างที่เขาออกตระเวนไลฟ์ รายงานภาพบรรยากาศการประท้วงรุนแรงในเมืองโมนยวา
ส่วนที่รัฐชิน Pu Lalawmpuia ซีอีโอของ Hakha Times ก็ถูกจับตำรวจรวบตัวไปขณะรายงานข่าวทางออนไลน์ เกี่ยวกับสถานการณ์ประท้วงในเมืองฮากกา
ตอนนี้ทิศทางข่าวของสื่อมวลชนทุกแขนงในเมียนมาคือ เรียกร้องให้กองทัพคืนประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่มีแนวโน้มว่ากองทัพจะยิ่งเป็นปฏิปักษ์กับสื่อเสรีในระดับรุนแรง เหมือนกับยุคก่อนการปฏิรูปประชาธิปไตย
บล็อกโซเชียลมีเดีย
หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ชาวเมียนมาที่ใช้โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และแมสเซนเจอร์ ในการติดตามข่าวสารเป็นหลัก ได้ถูกบล็อกการเข้าถึงโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลรัฐประหารเมียนมาอ้างว่า เพื่อป้องกันการแชร์ข้อมูลข่าวปลอม เริ่มตั้งแต่เฟซบุ๊ก ที่ชาวเมียนมาใช้ติดตามข่าวเป็นหลัก โดยมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในเมียนมากว่า 26 ล้านคน ตามมาด้วยการบล็อกทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม
...
โซเชียลมีเดียเหล่านี้เป็นเครื่องมือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และสื่อสารเพื่อนัดหมายการชุมนุมของชาวเมียนมา ภาพและคลิปวิดีโอประชาชนออกมาเคาะหม้อ กระทะ ขับรถบีบแตรเสียงดังขับไล่คณะรัฐประหาร ถูกแชร์ต่อในโลกโซเชียล และกลายเป็นข่าวในสื่อกระแสหลักทั่วโลก
เทเลนอร์กรุ๊ป บริษัทด้านการสื่อสารโทรคมนาคมข้ามชาติสัญชาตินอร์เวย์ เจ้าของเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ดีแทค ออกแถลงการณ์เมื่อ 3 ก.พ. ชี้แจงว่า กระทรวงคมนาคมและการสื่อสารของรัฐบาลเมียนมา ได้ออกคำสั่งให้ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต รวมถึงผู้ให้บริการโครงข่ายข้ามชาติทุกรายที่เปิดกิจการในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ระงับการเข้าถึงเฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดียอื่นๆ ในเครือ ได้แก่ เมสเซนเจอร์ และอินสตาแกรม เป็นการชั่วคราว โดยเชื่อว่าเป็นคำสั่งที่ไม่มีความจำเป็นและขัดกับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แต่เทเลนอร์กรุ๊ปจำเป็นต้องระงับการใช้งานโซเชียลมีเดียตามคำสั่งของรัฐบาลทหารพม่าตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. 2564 เป็นต้นไป ผู้ใช้งานโครงข่ายสัญญาณของเทเลนอร์กรุ๊ปจะไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์และบริการของเฟซบุ๊กได้ จนกว่าจะมีคำสั่งยกเลิกจากรัฐบาล
...
ด้านแอนดี สโตน โฆษกของเฟซบุ๊กเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมายกเลิกคำสั่งบล็อกเฟซบุ๊ก เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ ทั้งยังช่วยให้ประชาชนชาวพม่าสามารถติดต่อกับเพื่อนและครอบครัวที่อยู่ห่างไกลกันได้อีกด้วย
สัปดาห์ต่อมาหลังรัฐประหาร ชาวเมียนมาจากทุกสาขาอาชีพหลายพันคนออกมาเดินขบวนตามท้องถนน และภาพตำรวจทหารใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม กวาดจับผู้คนที่ไม่มีทางสู้ ก็ถูกเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก ทำให้รัฐบาลต้องเดินหน้าบล็อกโซเชียลมีเดียเกือบทั้งหมด แต่ในสมัยนี้ ต่อให้บล็อก ชาวเมียนมาก็ยังหาทางมุดเข้าได้ด้วยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน VPN (Virtual Private Network) โดยเว็บไซต์ Top10VPN.com เปิดเผยข้อมูลที่ระบุว่า ความต้องการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน VPN ในเมียนมาพุ่งทะยานขึ้นถึง 4,300%
...
ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา แฮชแท็กการรณรงค์ต่อต้านรัฐประหาร และเรียกร้องให้ชาวโลกช่วยกันกดดันกองทัพเมียนมา ก็มักจะติดเทรนด์เมียนมาและเทรนด์โลกไม่เว้นวัน ไม่ว่าจะเป็น #WhatsHappeningInMyanmar #SaveMyanmar #WeNeedDemocracy #HeartheVoiceofMyanmar #FreedomFromFear #CivilDisobedienceMovement และ #JusticeForMyanmar แฮชแท็กเหล่านี้นอกจากเป็นช่องทางการแสดงพลังทางการเมืองแล้ว ผู้คนทั่วโลกก็ยังได้เข้าไปติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา
สัญญาณอินเทอร์เน็ตขาดหาย แต่การประท้วงยังเดินหน้าต่อ
การบล็อกโซเชียลมีเดียในเมียนมาดูเหมือนจะไม่ค่อยได้ผล ทำได้เพียงแค่สกัดการเผยแพร่ข่าวสารได้เฉพาะคนบางกลุ่ม ทางการเมียนมาเลยเริ่มสั่งตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตไปเลย โดยเฉพาะช่วงวันเวลาที่มีการนัดหมายชุมนุมประท้วง ส่วนใหญ่เป็นช่วงวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ติดต่อกันมา 3 สัปดาห์แล้ว แต่วิธีนี้สามารถปิดกั้นได้เฉพาะการไลฟ์ รายงานสดทางออนไลน์เท่านั้น เพราะพอสัญญาณอินเทอร์เน็ตกลับมาเมื่อไร ภาพตำรวจ ทหาร สาดกระสุนใส่ประชาชน บีบคอคนท้อง ใช้กระบองไล่ตีเด็ก ใช้ความรุนแรงกวาดจับผู้ประท้วงก็ได้ถูกเผยแพร่ออกมาเต็มไปหมด
ข้อมูลจาก IP Observatory ในออสเตรเลีย ที่สอดส่องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั่วโลก เปิดเผยว่า กองทัพเมียนมาสั่งตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้อย่างเบ็ดเสร็จเฉพาะในบางพื้นที่ อย่างเช่นทางภาคกลางบางช่วงเวลาการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกลายเป็นศูนย์ ส่วนในเมืองย่างกุ้ง การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเหลือเพียง 50% ยิ่งในเมืองใหญ่ที่คนอยู่จำนวนมาก การตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ยิ่งทำได้ลำบาก เนื่องจากมีการใช้บริการของหลายเครือข่าย
กลุ่มสังเกตการณ์การใช้อินเทอร์เน็ต NetBlocks Internet Observatory ในอังกฤษ เปิดเผยข้อมูลที่ระบุว่า มีการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเกือบทั้งหมดในเมียนมา หลังจากที่สถานีโทรทัศน์ MRTV ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลเมียนมา รายงานว่า พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพเมียนมา ประกาศใช้กฎหมายโทรคมนาคมฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 15 ก.พ.
จะเห็นได้ว่าในปี 2021 การใช้วิธีควบคุมสื่อ บล็อกโซเชียลมีเดีย และปิดช่องทางการสื่อสาร จะเป็นจุดเริ่มต้นความล่มสลายของกองทัพเมียนมาในสายตาประชาชน เพราะยิ่งทำให้ชาวเมียนมาต่างโกรธแค้นและออกมาแสดงพลังกันมากขึ้น ทำให้ตำรวจต้องยิ่งปราบปรามผู้ประท้วงหนักขึ้นทุกวัน
เมื่อวันเสาร์ที่ 27 ก.พ. ปรากฏภาพในทวิตเตอร์ ตำรวจใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม มีภาพผู้ประท้วงถูกยิงด้วยกระสุนจริงนอนจมกองเลือดอยู่ริมถนน ขณะที่ตำรวจจับกุมผู้ประท้วงไปหลายร้อยคน มีภาพของแพทย์และพยาบาลสวมชุดขาวหลายสิบคนผละงานมาประท้วง แพทย์ยังชูสามนิ้วขณะถูกตำรวจกวาดต้อนขึ้นรถบรรทุก นับเป็นวันที่ตำรวจกวาดจับผู้ประท้วงมากที่สุดในรอบกว่า 3 สัปดาห์ ขณะที่ผู้ประท้วงก็ประกาศเดินหน้าชุมนุมต่อไป.
ผู้เขียน : เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์
ข้อมูล : Irrawaddy, France24, New Light of Myanmar, Channel News Asia