- ผลการวิจัยล่าสุดพบว่าเกือบ 2 ใน 3 ของ ประชากรวัย 18-24 ปี มีอาการป่วยทางจิตผลพวงจากโควิด-19
- การระบาดของโรคโควิดทำให้คนตกงาน บางคนได้รายได้ลดลงมาก ซึ่งกลุ่มที่จะต้องปรับตัวมากที่สุดก็คือกลุ่มผู้ใหญ่ตอนต้น และผู้ใหญ่ตอนปลาย ที่จะต้องรับมือกับช่วงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นแรงกดดัน
- หน่วยงานและสถานศึกษาเป็นหน่วยงานหลักที่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยบรรเทาปัญหา ด้วยการจัดหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่บุคลากร เพื่อช่วยประคองให้ผู้ที่เผชิญความกดดันทางจิตใจสามารถผ่านพ้นภาวะที่ยากลำบากนี้ไปได้
เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคโควิด-19 ที่ระบาดต่อเนื่องมานานเกือบ 2 ปี ส่งผลกระทบต่อทุกกลุ่มอาชีพ ทุกกลุ่มอายุ และทุกเชื้อชาติ โรงเรียนต้องปิดตัว ที่ทำงานหลายแห่งต้องปิดชั่วคราว แม้แต่การแข่งขันกีฬาต่างก็ต้องเลื่อนหรือยกเลิกจัดการแข่งขัน และที่สำคัญมาตรการเว้นระยะห่างมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก เพื่อสกัดกั้นการระบาดให้ได้โดยเร็ว ซึ่งเหตุปัจจัยเหล่านี้ โดยเฉพาะการงดเข้าสังคมดูเหมือนจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มของวัยหนุ่มสาวมากที่สุด
...
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการพูดถึงประเด็นนี้ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่มีต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วย รวมทั้งสุขภาพจิตของผู้ที่ไม่ได้ป่วย แต่ไม่สามารถปรับตัวกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างมากได้ ซึ่งในผลวิจัยล่าสุดที่เก็บรวบรวมข้อมูลโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ พบว่า 63 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มประชากรอายุระหว่าง 18-24 ปี มีอาการของความวิตกกังวลและซึมเศร้า ขณะที่อีก 25 เปอร์เซ็นต์ มีปัญหาที่จะรับมือกับความเครียดเพิ่มขึ้น และอีก 25 เปอร์เซ็นต์คิดที่จะฆ่าตัวตาย
ดร.ชีคาร์ ซาเซนา ศาสตราจารย์ด้านสุขภาพจิตของโรงเรียนการแพทย์ฮาร์วาร์ด ระบุว่า ผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่มีต่อสุขภาพจิตพบเป็นวงกว้างในกลุ่มวัยหนุ่มสาว ตัวเลขที่พบชี้ว่า 2 ใน 3 ของคนกลุ่มนี้จะมีอาการของความวิตกกังวล ซึมเศร้า รวมทั้งปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่นๆ ดร.ซาเซนา ยังระบุด้วยว่า แม้การระบาดของโควิด-19 จะจบสิ้นลง แต่ 10 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มหนุ่มสาวที่มีอาการทางจิต จะยังไม่หายไป และยังต้องรับมือกับอาการป่วยในระยะยาวด้วย ซึ่งนั่นจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน และการศึกษาหาความรู้ของพวกเขา
การระบาดของโรคนี้ทำให้คนส่วนมากตกงาน บางคนได้รายได้ลดลงมาก และยังไม่รู้ว่าในอนาคตจะนำไปสู่อะไรได้อีกบ้าง ซึ่งกลุ่มที่จะต้องปรับตัวมากก็คือกลุ่มผู้ใหญ่ตอนต้น และผู้ใหญ่ตอนปลาย ที่จะต้องรับมือกับช่วงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยข้อมูลจากองค์กรพันธมิตรผู้ป่วยโรคทางจิตแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยทางจิตที่มีอาการตลอดชีวิต เริ่มพัฒนาอาการป่วยมาตั้งแต่อายุ 14 ปี และอีก 75 เปอร์เซ็นต์เริ่มมีอาการนับตั้งแต่อายุ 24 ปี
ขณะที่เครือข่ายสุขภาพจิต ก็มีการสรุปผลสำรวจที่ได้มาว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยยอมรับว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพจิตของพวกเขา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญต่างแสดงความกังวลว่า ถ้าหากผู้ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตไม่หันหน้าไปหาแพทย์ หรือขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ก็อาจจะกลายเป็นโรคเรื้อรังในระยะยาว
ดร.ซาราห์ ลิปสัน รองศาสตราจารย์ของสาขาวิชานโยบายกฎหมายสุขภาพและการจัดการ มหาวิทยาลัยบอสตัน ระบุว่า นักศึกษาผิวสี และรายได้น้อย ที่ต้องเผชิญกับภาวะทางจิต มักจะมีโอกาสในการเข้าถึงการรักษาได้ยาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง และไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเรียนต่อในระดับสูง หรือระดับปริญญาได้ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ผู้เชี่ยวชาญกังวลใจมากที่สุด
ความวิตกกังวล และโรคซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้น
ดร.ซาเซนา อธิบายให้เห็นภาพว่า โรคระบาด จะกลายเป็นพายุใหญ่ ที่ทำให้โรคทางจิตเพิ่มขึ้น จากการก่อตัวของความวิตกกังวล ความสูญเสีย ซึ่งจะนำไปสู่โรคซึมเศร้า ทำให้กลุ่มหนุ่มสาวหลงทาง โดยเฉพาะโอกาสด้านการศึกษา และด้านอาชีพ
...
สำหรับกลุ่มคนอายุระหว่าง 21-25 ปี นี่คือเวลาของการขยับขยายชีวิตของเขา กับความสัมพันธ์ใหม่ๆ และสิ่งใหม่ๆ แต่ทุกอย่างกลับหยุดชะงัก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่ช่วงหนึ่งของชีวิตจะต้องชะงักลง ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นช่วงของการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ตลาดงานของกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวที่พวกเขาควรจะได้เริ่มต้น ก็ยากที่จะคาดเดา ซึ่งนั่นทำให้เกิดความเครียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความเหงา และการถูกแยกจากสังคม
สถาบันสุขภาพจิตแห่งอเมริกา พบว่า ในช่วงเดือนเมษายน และกันยายนของปีที่แล้ว มีประชากรถึง 70 เปอร์เซ็นต์ที่รู้สึกโดดเดี่ยว และแปลกแยก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต การแปลกแยกที่พูดถึงก็คือการถูกแยกออกจากคนอื่นๆ และความเหงาก็จะเข้ามาร่วมด้วย
มนุษย์เราสามารถรู้สึกเหงาได้แม้ในยามที่อยู่ร่วมกับคนอื่น แต่ทั้งความเหงา และการถูกแยกตัวออกไป จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และแม้แต่การสื่อสารระหว่างกันในภาวะโรคระบาดก็ยังต้องมีการเว้นระยะห่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่โชคร้ายอย่างมาก
ดร.ซาเซนา ยังระบุด้วยว่า การเว้นระยะทางสังคม ควรจะเรียกว่า การเว้นระยะทางร่างกาย ซึ่งแยกจากการลดการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม โดยประชาชนส่วนใหญ่ถูกบังคับให้ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่วางไว้ แต่ก็ควรมีความพยายามหาช่องทางในการติดต่อสื่อสาร และมีปฏิสัมพันธ์กันในทางอื่นได้
...
จอร์แดน คอร์โคแรน ผู้ก่อตั้ง Listen Lucy องค์การด้านสุขภาพจิตระบุว่า เธอเคยถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวลทั่วไป และโรคแพนิค ตั้งแต่อายุ 19 ปี จนปัจจุบันเธออายุ 33 ปี แล้ว เธอยังรู้สึกว่าการระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้เป็นความท้าทายอย่างมาก เธอเปิดใจว่า เธอต้องพยายามทุกนาทีในทุกๆ วันเพื่อควบคุมความวิตกกังวลของเธอไว้ และการกักตัวเป็นส่วนหลักสำคัญกับการรับมือกับอาการป่วยทางจิต แม้ว่าทุกวันนี้เธอจะได้ช่วยเหลือ และมีคำแนะนำให้แก่ผู้อื่นเพื่อต่อสู้กับอาการป่วย แต่เธอเองก็ยังต้องสู้กับจิตใจของตัวเองทุกวันเช่นกัน และไม่รู้ว่าจะต่อสู้กับมันได้อีกนานแค่ไหน
เราจะทำอะไรได้บ้าง
ดร.ซาเซนา ระบุว่า ถ้าเป็นความเครียดจากที่ทำงาน เช่น การทำงานหนักเกินไป ที่ไม่ใช่การเลย์ออฟพนักงาน หรือปรับโครงสร้าง นายจ้างสามารถยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือได้มาก โดยเขาต้องรับรู้ว่าเมื่อคนเราเจอความเครียด ก็มีโอกาสที่จะนำไปสู่อาการทางจิตได้ หากทางนายจ้างช่วยให้มีที่ปรึกษาทางจิตวิทยาแก่พนักงาน รวมทั้งให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จะสามารถช่วยสถานการณ์ในเวลานี้ได้ดีที่สุด
ขณะเดียวกันในสถานศึกษาเองก็ควรจัดหาแหล่งให้นักศึกษาได้เข้ารับการปรึกษาทางจิตวิทยา หรือจัดการฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของคณะต่างๆ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงปัญหาทางด้านสุขภาพจิตในหมู่นักศึกษา และสามารถให้คำแนะนำและรับมือได้ เพราะเชื่อว่าหากการระบาดของโรคยังยืดยาวต่อไป จะพบนักเรียนนักศึกษาที่มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อยๆ.
ผู้เขียน : อาจุมม่าโอปอล
ที่มา : เอบีซีนิวส์, ฟลอริดานิวส์ไทมส์, นิวยุโรปดอทอียู
...