หนึ่งในภารกิจที่นักดาราศาสตร์พากเพียรทำมานาน นั่นคือการทำแผนที่ท้องฟ้ากว้าง ซึ่งเป็นพื้นที่อันไพศาล มองจากโลกเราอาจเห็นว่ามีดวงดาวส่องแสงนับหลายพันดวง แต่จริงๆแล้วไม่ได้มีแค่ดวงดาว แต่ยังมีวัตถุอื่นๆ รวมถึง หลุมดำอีกมากมาย
ล่าสุด ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติ นำโดยนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไลเดน ในเนเธอร์แลนด์ ได้เผยแพร่แผนที่ท้องฟ้าที่แสดงให้เห็นหลุมดำมวลยิ่งยวด (super massive black holes) จำนวนมากกว่า 25,000 แห่ง แผนที่ใหม่นี้ถูกสร้างขึ้นโดยรวมการสังเกตการณ์ท้องฟ้าทางเหนือเป็นเวลา 256 ชั่วโมง จากการใช้สถานีสังเกตการณ์ 52 แห่ง ที่มีเสาอากาศย่านความถี่ต่ำ (The Low-Frequency Array-LOFAR) ที่กระจายตัวอยู่ใน 9 ประเทศในยุโรป และติดตั้งซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ทำงานด้วยอัลกอริธึมแบบใหม่ ซึ่งสามารถแก้ไขผลกระทบและอุปสรรคในชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ของโลกทุกๆ 4 วินาที
ขณะนี้แผนที่ดังกล่าวจัดว่ามีรายละเอียดมากที่สุดทางด้าความถี่วิทยุที่มีความถี่ต่ำ แผนที่ครอบคลุมพื้นที่ 4% ของครึ่งทางเหนือของท้องฟ้า อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์มุ่งมั่นดำเนินการต่อไปจนกว่าจะทำแผนที่ท้องฟ้าทางเหนือได้ทั้งหมด ทั้งนี้ นอก จากหลุมดำมวลยวดยิ่งแล้ว แผนที่นี้ยังให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโครงสร้างขนาดใหญ่ของจักรวาลด้วยเช่นกัน.
(ภาพประกอบ Credit : LOFAR/LOL Survey)