เรื่องของ เทเลเฮลท์ (Telehealth) ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยีผนวกกับการสื่อสารมารับใช้งานบริการสุขภาพ แม้จะไม่ใช่ เรื่องใหม่ก็ตามที แต่ในสถานการณ์ของโรคระบาดใหญ่อย่าง โควิด–ไนน์ทีน (COVID–19) ทำให้การพัฒนาเครื่องมือในกลุ่มเทเลเฮลท์มองเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น

และเห็นได้ชัดว่าเกิดผลลัพธ์ในเชิงบวก อย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงโดรนให้ใช้งานได้หลากหลายและเกิดประโยชน์มากที่สุด มากกว่าฟังก์ชันปกติที่โดรนมักใช้ช่วยขนส่งอุปกรณ์บางอย่าง หรือคอยสอดส่องผู้คนให้มีระยะห่างกันในช่วงที่โรคระบาดยังไม่บรรเทาเบาบางลง

จากกรณีของ มหาวิทยาลัยเซาท์ ออสเตรเลีย กับพันธมิตรอย่าง บริษัทดรากอนฟลาย อิงค์ ผู้นำด้านการผลิตโดรนและอากาศยานไร้คนขับที่มีฐานการทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ทั้งคู่ร่วมมือกัน ออกแบบเทคโนโลยีแรกของโลกที่รวมวิศวกรรมของโดรน กล้องและปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (Artificial Intelligence) เพื่อใช้ตรวจสอบสัญญาณสุขภาพที่สำคัญของผู้คนจากระยะไกล ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเริ่มกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2563

โดรนที่ครบเครื่องด้วยระบบอัจฉริยะนี้ ถูกใช้ตรวจจับอาการสำคัญของโรคโควิด–19 จากระยะไกล ตั้งแต่อัตราการหายใจ การเต้น ของหัวใจ อุณหภูมิ ไปจนถึงระดับออกซิเจนในเลือด เรียกว่าสามารถสแกนหาสัญญาณสุขภาพที่สำคัญได้ภายใน 15 วินาทีเท่านั้น นอกจากนี้ยังเพิ่มซอฟต์แวร์ช่วยในการเว้นระยะห่างทางสังคมลงไปในระบบด้วย

เทคโนโลยี 3 ประสาน ทั้งโดรน–กล้อง–เอไอ เหล่านี้ ถูกนำไปใช้งานในช่วงเดือน ก.ย.ปีที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยอลา-บามา สเตต ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้กลายเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งแรกในโลกที่ใช้เทคโนโลยีนี้ช่วยในการตรวจหาอาการของโควิด–19 รวมถึงบังคับใช้การเว้นระยะห่างทางสังคมของบุคลากรในมหาวิทยาลัยและนักศึกษา ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าสถาบันแห่งนี้มีอัตราการติดเชื้อโควิด–19 ต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในทุกวิทยาเขตของสหรัฐอเมริกา

...

ด้วยการผนวกเทคโนโลยีทั้ง 3 เข้าด้วยกัน นักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลงานเชื่อว่านี่จะเป็นหนทางหนึ่งที่เหมาะสมต่อการจัดการกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นกับมนุษยชาติ

โดยเฉพาะคุกคามความมั่นคงด้านสุขภาพ และเทคโนโลยีนี้จะนำไปสู่ยุคใหม่ของเทเลเฮลท์.

ภัค เศารยะ