ว่ากันว่าโลกของเรามีภาษามากมายและแตกต่างกันมากถึง 7,000 ภาษา ภาษาและอักษรที่ใช้กันในวงกว้างในทุกวันนี้ก็คือภาษาอังกฤษ จีน ฮินดี สแปนิช ฝรั่งเศส อาราบิก เบงกาลี รัสเซียน โปรตุกีส เยอรมัน ฯลฯ ภาษาก็เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีรากเหง้า ลำต้นโผล่พ้นขึ้นมาจากดินก็แตกแยกกิ่งก้านสาขาน้อยใหญ่ กลายเป็นภาษาแตกต่างกันให้ผู้คนใช้สื่อสารในแต่ละภูมิภาค
บางภาษาตายไปหรือไม่มีผู้พูดหรือเขียนเป็นภาษาหลักแล้ว ภาษาและอักษรในยุคโบราณจึงเป็นสิ่งที่นักวิจัยให้ความสนใจตลอดมา ล่าสุดมีการค้นพบหลักฐานสำคัญคือซากซี่โครงกระดูกวัวที่มีจารึกอักษรหน้าตาแปลกประหลาด ในทางตอนใต้ของสาธารณรัฐเช็กเมื่อปี พ.ศ. 2560 เมื่อตรวจสอบโดยทีมวิจัยนานาชาติทั้งในสาธารณรัฐเช็ก ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย ในที่สุดนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมาซารีค ในเมืองเบอร์โน แห่งสาธารณรัฐเช็ก ก็เผยว่านี่คือจารึกอักษรเก่าแก่ที่สุดที่ชาวสลาฟโบราณเคยใช้ในช่วงศตวรรษที่ 7 เรียกว่าหักล้างข้อมูลเดิมที่เชื่อว่าอักษรสลาฟที่เก่าแก่ที่สุดก็คือกลาโกลิติก (Glagolitic) ซึ่งประดิษฐ์โดย นักบวชไบแซนไทน์ในศตวรรษที่ 9
...
ทีมวิจัยตรวจสอบกระดูกโดยทดสอบทางพันธุกรรมและหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี การวิเคราะห์ที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้ชี้ว่ากระดูกมาจากวัวเลี้ยงในบ้าน มันมีชีวิตอยู่ในราวปี ค.ศ.600 และอักษรที่อยู่บนกระดูกเรียกว่าอักษรรูนิก หรืออักษรรูน หนึ่งในอักษรโบราณที่เชื่อกันว่าเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์เปี่ยมเวทมนตร์ขลัง.