• สัปดาห์ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับแผ่นดินไหวขนาด 7.3 ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ นอกชายฝั่งจังหวัดฟุกุชิมะ แรงสั่นสะเทือนส่งผลให้ถนนถูกตัดขาด ดินถล่มในบางพื้นที่ และไฟฟ้าดับในพื้นที่รอบนอกกรุงโตเกียว
  • เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ เป็นหนึ่งในอาฟเตอร์ช็อกจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 9.0 ในฟุกุชิมะ ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิกวาดบ้านเรือนประชาชนราบเป็นหน้ากลอง นำไปสู่วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ฟุกุชิมะ-ไดอิชิ มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 20,000 ราย
  • รัฐบาลญี่ปุ่นได้เร่งเดินหน้าฟื้นฟูพื้นที่ดังกล่าว และเตรียมประกาศก้องให้โลกรู้ถึงการพัฒนาของจังหวัดฟุกุชิมะ ในการแข่งขันโตเกียว โอลิมปิก ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่โต้ ไม่ได้ประโยชน์จากโอลิมปิก และฟุกุชิมะยังฟื้นฟูไม่สำเร็จ บาดแผลจากแผ่นดินไหวยังคงอยู่

คืนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวระดับ 7.3 ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น โดยจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่นอกชายฝั่งเมืองนามิเอะไป 74 กิโลเมตร และมีความลึกอยู่ที่ 55 กิโลเมตร ซึ่งแรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ได้ไกลถึงกรุงโตเกียว และมีรายงานไฟฟ้าดับในบริเวณรอบนอกกรุงโตเกียว ขณะที่โลกโซเชียลแห่แชร์ภาพนาทีแผ่นดินไหว ข้าวของกระจัดกระจาย

แผ่นดินไหวในครั้งนี้ทำให้หลายคนหวนนึกถึงความทรงจำของวันที่ 11 มีนาคม 2554 ที่เกิดแผ่นดินไหวร้ายแรงระดับ 9.0 ทำให้เกิดสึนามิ และนำไปสู่วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ที่เกิดจากแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของญี่ปุ่น ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิกวาดบ้านเรือนประชาชนราบเป็นหน้ากลอง และมีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 20,000 คน

...

ถึงแม้ว่าเวลาจะล่วงเลยผ่านมาเป็นสิบปี แต่ความเสียหายครั้งใหญ่และการสูญเสียก็ยากที่จะลืม นอกจากนี้การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแสนสาหัสมาจนถึงทุกวันนี้ 

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นชี้ว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวทั้งสองครั้งนั้นมีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.3 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในอาฟเตอร์ช็อกจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2554 ซึ่งถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะเร่งฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ายังต้องใช้เวลาอีกกว่า 10 ปีจึงจะสำเร็จ  

ผ่านมาเกือบสิบปี ความทรงจำยังชัดเจน

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 9.0 โดยจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากชายฝั่งจากเมืองเซนได จังหวัดมิยางิ ไป 130 กิโลเมตร รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ยาวนานถึง 3 นาที ในจังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่น แรงสั่นสะเทือนรุนแรงส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิสูง 15 เมตร พัดเข้าถล่มชายฝั่ง สร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง 560 ตารางกิโลเมตร  

มวลน้ำมหาศาลที่ก่อตัวเป็นกำแพงสูงไม่ได้ส่งผลให้บ้านเรือนของชาวบ้านราบเป็นหน้ากลองเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายให้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ-ไดอิชิ คลื่นยักษ์ได้ซัดสร้างความเสียหายให้แก่ 3 ใน 6 ของเตาปฏิกรณ์ เป็นเหตุให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหล นำไปสู่วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ฟุกุชิมะ-ไดอิชิ ที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 25 ปีของโลก ส่งผลกระทบอย่างแสนสาหัสต่อธรรมชาติมาถึงทุกวันนี้ 

หลังจากเหตุแผ่นดินไหวยังพบว่าประเทศญี่ปุ่นได้เคลื่อนไปทางตะวันออกราวหนึ่งเมตร และมีพื้นที่แนวชายฝั่งลดลงราวครึ่งเมตร โดยชาวเมืองนามิเอะ จังหวัดฟุกุชิมะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงได้ย้ายถิ่นฐานไปยังเมืองต่างๆ ในญี่ปุ่น และมีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ย้ายกลับเข้าไปอาศัยที่บ้านเกิด เนื่องจากความกังวลสารกัมมันตรังสีตกค้าง

รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมจุดคบเพลิงโอลิมปิกในฟุกุชิมะ ชาวบ้านโต้ ฟุกุชิมะยังฟื้นฟูไม่สำเร็จ

นายชินโซะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ตั้งใจใช้โอกาสในการจัดงานโตเกียว โอลิมปิก ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการฟื้นฟูและพัฒนาทางเศรษฐกิจของจังหวัดฟุกุชิมะ หลังจากวิกฤติสึนามิและแผ่นดินไหว โดยการเริ่มวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกจากจังหวัดฟุกุชิมะ

...

ขณะที่รัฐบาลได้ทุ่มเงินมหาศาลในการกู้ฟุกุชิมะ แต่ด้านชาวบ้านและคนในพื้นที่ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเรื้อรังที่ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข โดยสะท้อนว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลในการจัดการแข่งขันโอลิมปิก แต่พวกเขากลับรู้สึกว่าไม่ได้รับประโยชน์จากงบประมาณดังกล่าวแต่อย่างใด 

โดยได้ตอบโต้ โดยระบุว่า รัฐบาลต้องการจัด 'โอลิมปิกเพื่อการฟื้นฟู' และต้องการที่จะประกาศว่าหลังจากผ่านไป 10 ปี การฟื้นฟูได้เสร็จสิ้นแล้ว แต่ความเป็นจริงนั้นสวนทาง เนื่องจากถึงแม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน แต่ยังมีชาวฟุกุชิมะหลายหมื่นคนต้องย้ายถิ่นฐาน และไม่สามารถกลับบ้านเกิดของตนได้ เนื่องจากยังมีสารกัมมันตรังสีตกค้าง 

สอดคล้องกับข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนที่ระบุว่า ชาวบ้านในฟุกุชิมะผิดหวังที่รัฐบาลได้ทุ่มเงินจำนวนกว่าพันล้านดอลลาร์ ไปกับการจัดการแข่งขันโอลิมปิก แทนที่จะใช้เงินจำนวนดังกล่าวมาช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน และสะท้อนว่าฟุกุชิมะยังไม่ได้ฟื้นฟูจากภัยพิบัติแต่อย่างใด บาดแผลจากแผ่นดินไหวนั้นยังคงอยู่กับผู้ประสบภัยที่ต้องจากบ้านเกิด. 

...

ผู้เขียน: นัฐชา

ที่มา: World-nucler, CNN, Koreatimes