• หลังรัฐประหารเมียนมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ประกาศทันทีว่าจะทบทวนมาตรการคว่ำบาตรต่อเมียนมาเพิ่มเติม หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ เคยทยอยยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อเมียนมาเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
  • จีนตระหนักถึงผลกระทบจากการทำรัฐประหารในเมียนมา แต่ยังยึดหลักนโยบายการต่างประเทศที่ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น 
  • จับตาการประชุมอาเซียนวาระพิเศษ หารือสถานการณ์การเมือง การรัฐประหารเมียนมา ผลักดันโดยมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนทิศทางใหม่ในการอยู่ร่วมกันของประชาคมอาเซียน การประชุมนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ 

หลังจากกองทัพเมียนมา นำโดยพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาลของ นางออง ซาน ซูจี เมื่อเช้ามืดของวันที่ 1 ก.พ. พร้อมประกาศเข้าสู่สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี และตั้งคณะรัฐบาลใหม่ขึ้นมาภายใต้การบริหารของพลเอกมินต์ ส่วย ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีรักษาการ ทั้งที่รัฐบาลนางซูจี เพิ่งชนะเลือกตั้งมาอย่างถล่มทลายเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ถูกกล่าวหาว่าโกงเลือกตั้ง

ทั่วโลกประสานเสียงไม่ยอมรับเหตุการณ์รัฐประหารที่เกิดขึ้นในเมียนมา แม้เป็นการประกาศว่าจะยึดอำนาจไว้เพียง 1 ปีเท่านั้น แล้วหลังจากนั้นจะให้มีการเลือกตั้ง เพราะจากอดีตที่ผ่านมากองทัพเมียนมาที่กระหายอำนาจไม่เคยทำตามสัญญาที่ให้ไว้ 

...

องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น และคณะมนตรียุโรป เรียกร้องให้เมียนมากลับมาเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง และขอให้ปล่อยตัว นางออง ซาน ซูจี ที่ถูกกักบริเวณอยู่ภายในบ้านพัก นับตั้งแต่วันรัฐประหาร รวมไปถึงปล่อยตัวบรรดาแกนนำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี แต่ตอนนี้ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่การตัดสินใจของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย แต่เพียงผู้เดียว 

มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ จะส่งผลอย่างไร

เหตุการณ์รัฐประหารเมียนมา ถูกมองว่าเป็นบททดสอบครั้งสำคัญสำหรับรัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทดสอบท่าทีของสหรัฐฯ ในฐานะประเทศผู้ปกป้องประชาธิปไตย ประธานาธิบดีไบเดนประกาศทันทีว่าจะทบทวนมาตรการคว่ำบาตรต่อเมียนมาเพิ่มเติม หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ เคยทยอยยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อเมียนมาเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ในแถลงการณ์ของทำเนียบขาว ได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมมือกันกดดันกองทัพเมียนมา ให้สละการยึดอำนาจและปล่อยตัวบรรดานักเคลื่อนไหว ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่ถูกจับกุมตัวไป

โดยต้องสังเกตที่ถ้อยแถลงการณ์ฉบับนี้ใช้คำว่า "เบอร์มา" (Burma) ชื่อประเทศแบบเก่าตั้งแต่ยุคอังกฤษล่าอาณานิคม ก่อนที่รัฐบาลทหารจะมาเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นเมียนมา (Myanmar) และสหรัฐฯ ก็เปลี่ยนมาเรียกเมียนมาด้วยเหตุผลทางการทูต แสดงให้เห็นว่า นายไบเดน แสดงจุดยืนไม่ยอมรับอำนาจของกองทัพเมียนมา 

สหรัฐฯ เคยออกมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาครั้งแรก เมื่อปี 2541 หลังกองทัพใช้ความรุนแรงกวาดล้างกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาประท้วงในย่างกุ้ง แต่ต่อมารัฐบาลสหรัฐฯค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรเพื่อส่งเสริมแนวทางการปฏิรูปของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และการปล่อยตัวนางซูจี นำมาซึ่งการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรในปี 2559 ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา ต่อมาประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยออกมาตรการคว่ำบาตรเมียนมารอบใหม่ เพื่อตอบโต้ต่อการใช้ความรุนแรงในรัฐยะไข่ เมื่อปี 2562

มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ จะรวมไปถึงการตัดความช่วยเหลือทางการเงิน อายัดทรัพย์สินเหล่าบิ๊กในกองทัพ ปิดกั้นช่องทางการลงทุนในเมียนมา หากมีการปล่อยตัวนางซูจี ความรุนแรงก็อาจจะลดลง และหากไม่มีการพุ่งเป้าไปยังพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และคนใกล้ชิด มาตรการคว่ำบาตรก็จะส่งผลกระทบแบบครอบคลุมทั้งกองทัพ และการพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดประเทศหนึ่งของเอเชีย อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังต้องระวังไม่ให้การคว่ำบาตรเป็นเครื่องมือที่ยิ่งผลักเมียนมาเข้าสู่อ้อมอกจีนด้วย 

...

ยูเอ็น-อียู เรียกร้องปล่อยตัวซูจี 

คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ (UN Security Council-UNSC) ออกแถลงการณ์ภายหลังประชุมฉุกเฉินในวันที่ 4 ก.พ. แสดงความวิตกกังวลอย่างมากต่อการรัฐประหารเมียนมา โดยมีจีนกับรัสเซีย เป็นสองประเทศสมาชิกถาวรที่ออกมาคัดค้านการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงกว่านี้ อย่างการประณามกองทัพเมียนมา

อย่างไรก็ตาม ได้มีถ้อยคำเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางซูจี และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนอื่นๆ พร้อมระบุว่าจะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของเมียนมา ขอให้กองทัพเมียนมาเคารพสิทธิมนุษยชน เสรีภาพพื้นฐานและหลักการแห่งกฎหมาย และส่งเสริมการเจรจาปรองดองที่จะส่งผลดีต่อประชาชนชาวเมียนมา 

ก่อนหน้านั้น นายอันโตนิโอ กูเตียเรส เลขาธิการยูเอ็น ระบุว่าการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมา จะทำให้การปฏิรูปประชาธิปไตยถอยหลังลงคลอง ข้อเรียกร้องคือให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัว 45 คนที่ถูกจับไป คณะมนตรียูเอ็นประชุมฉุกเฉินหารือสถานการณ์รัฐประหารเมียนมา 

ด้านคณะมนตรียุโรป (European Council) นายชาร์ลส์ มิแชล ประธาน ออกมาประณามการรัฐประหารในเมียนมา พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัว นางออง ซาน ซูจี และบรรดานักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกจับกุมตัวไป

...

อินเดีย-ญี่ปุ่น เลือกยืนตรงกลางระหว่างสองฝ่าย

ขณะที่รัฐบาลอินเดีย และญี่ปุ่น สองประเทศที่มีพลังในการช่วยกดดันกองทัพเมียนมา ยังคงไม่แสดงออกอย่างชัดเจนในการต่อต้านรัฐประหาร โดยรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า ยังไม่มีแผนที่จะระงับความช่วยเหลือทางการเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีให้กับเมียนมา โดยบอกว่าจะรอดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ขณะที่รัฐบาลอินเดียไม่สะดวกใจที่จะใช้คำว่ารัฐประหาร แต่กลับบอกว่า อินเดียสนับสนุนหลักกฎหมายและกระบวนการทางประชาธิปไตย โดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี กล่าวสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว 

รัฐบาลอินเดียกับญี่ปุ่น มองถึงความเปราะบางของสถานการณ์ในเนปิดอว์ และคำนึงถึงความสัมพันธ์ที่เคยมีทั้งกับรัฐบาลพลเรือนของนางซูจี และความสัมพันธ์กับกองทัพเมียนมา ซึ่งต่างมีความหมายท่ามกลางการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

เมื่อปีที่แล้วเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอินเดีย และญี่ปุ่น เดินทางเยือนกรุงเนปิดอว์ ก็ได้เข้าพบทั้งนางออง ซาน ซูจี และพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ทำให้เชื่อว่าตอนนี้รัฐบาลอินเดียและญี่ปุ่นจะยังคงไม่มีมาตรการลงโทษใดๆ ต่อเมียนมา เพราะไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นผลดีต่อจีนไป แต่อินเดียกับญี่ปุ่น พร้อมที่จะทำงานกับใครก็ได้มีอยู่ในอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพลเรือนของนางซูจี หรือรัฐบาลเผด็จการทหารของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย  

...

อินโด-มาเลย์ผลักดันปัญหาเมียนมาสู่เวทีอาเซียน

หลังเกิดรัฐประหารในเมียนมา สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations-ASEAN) หรืออาเซียน ซึ่งเมียนมาเป็นสมาชิกอยู่ ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นับเป็นแถลงการณ์ที่ตามหลักผลประโยชน์ร่วมกันของชาติสมาชิก โดยไม่แทรกแซงกิจการภายในของแต่ละประเทศเหมือนที่ผ่านมา

แต่ล่าสุดนับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ เมื่อนายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยาสซิน ของมาเลเซีย บอกว่าการรัฐประหารในเมียนมา เป็นการก้าวถอยหลังของกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศ และเห็นพ้องกับประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ที่จะให้รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองประเทศ จะเข้าหารือกับบรูไน ประธานอาเซียนในปัจจุบัน ให้ลองพยายามทำให้เกิดการประชุมวาระพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในพม่า ซึ่งเป็นการประชุมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และจะเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของอาเซียน  

จีนมองรัฐประหารเมียนมาอย่างไร

ที่ผ่านมา จีน เป็นประเทศที่มีสายสัมพันธ์อันดี เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่และเป็นประเทศที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อกองทัพเมียนมา จีนยังคงยึดถือหลักการสำคัญไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ตอนเกิดรัฐประหารจีนออกแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาเบามากที่สุด ทำให้ทั่วโลกสงสัยถึงผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาลจีนกับกองทัพเมียนมา

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า จีนหวังว่าทุกฝ่ายจะคลี่คลายจัดการปัญหาความแตกต่างภายใต้รัฐธรรมนูญและกรอบทางกฎหมาย คงไว้ซึ่งสเถียรภาพทางสังคมและการเมือง นอกจากนี้จีนบอกว่า เหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมาอาจส่งผลกระทบต่อความวิตกกังวลของนักลงทุนจีนที่มีโปรเจกต์ในเมียนมา และอาจส่งผลกระทบต่อข้อตกลงของสองรัฐบาล

หลายฝ่ายเชื่อว่า หากสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการคว่ำบาตร ก็อาจทำให้กองทัพเมียนมาต้องพึ่งพาจีนมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นที่ผ่านมาเมียนมาก็ไม่ได้ดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศใดเพียงประเทศเดียว 

และแม้ว่าจีนจะไม่ได้ประณามการรัฐประหาร หรืออาจะมีผลประโยชน์จากเหตุการณ์นี้ แต่เชื่อว่ารัฐบาลจีนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะที่จริงแล้วในแง่ผลประโยชน์ จีนมองว่ากองทัพเมียนมา อาจจะเป็นหุ้นส่วนที่เอาแน่เอานอนไม่ได้และไม่ค่อยน่าไว้วางใจเท่าไหร่ ถ้าเทียบกับรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีของนางซูจี ที่ดูจะมีศักยภาพทำให้เมียนมาพัฒนาเศรษฐกิจส่งผลดีต่อทั้งภูมิภาคมากกว่า 

ขณะเดียวกัน การลงทุนของจีนในเมียนมาก็ขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของฝ่ายรัฐบาล การยอมรับจากนานาประเทศ จีนคงจะทำธุรกิจติดกับเมียนมาได้ไม่สะดวกนัก หากทั่วโลกพากันคว่ำบาตรต่อเมียนมา 

จีนไม่ออกมาประณามเมียนมา เพราะเป็นสิ่งที่จีนไม่เคยทำมาก่อน รัฐบาลจีนจะไม่ประณามการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศอื่น และจีนก็ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะไปประณามหรือไม่ยอมรับการไม่เป็นประชาธิปไตย การยึดอำนาจรัฐบาลประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นได้ หลักการสำคัญของนโยบายด้านการต่างประเทศของจีนที่มีมาอย่างยาวนาน คือ ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น. 

ผู้เขียน เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์

ข้อมูล  Jakarta Globe , BBC , VOA