นายวิน เทน ผู้นำระดับสูงของพรรคเอ็นแอลดี ผู้ช่วยคนสำคัญของนางอองซาน ซูจี ผู้นำของเมียนมา ถูกจับกุมในวันที่ 5 ก.พ. หลายวันหลังจากการรัฐประหาร เป็นการยุติการปฏิบัติตามระบอบประชาธิปไตย 10 ปีของประเทศ หลังจากการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารมานานหลายทศวรรษ

กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจในวันจันทร์ที่ 1 ก.พ. กักขังนางซูจีและประธานาธิบดีอู วิน มินต์ ขณะที่นายวิน เทน ผู้นำระดับสูงของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมียนมา ผู้เป็นมือขวาของนางซูจี วัย 79 ปี ถูกจับที่บ้านของลูกสาวของเขาในย่างกุ้ง ระหว่างที่พักอยู่ตอนเที่ยงคืนตามเวลาท้องถิ่น โดยวิน เทน เคยเป็นนักโทษ ทางการเมืองที่ถูกควบคุมตัวเป็นเวลานานจากการรณรงค์ต่อต้านการปกครองของทหาร ก่อนถูกจับกุมได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าการยึดอำนาจของทหารนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาด จะนำพาประเทศไปในทิศทางที่ผิด และเรียกร้องให้ประชาชนทุกคนในประเทศออกมาต่อต้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ซูจีไม่ได้ปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. เจ้าหน้าที่และฝ่ายนิติบัญญัติมากกว่า 130 คนถูกควบคุมตัว ผู้ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศยังได้รับคำสั่งให้ปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊กไปจนถึงวันที่ 7 ก.พ. ซึ่งเป็นวิธีการหลักในการสื่อสารของผู้คนนับล้านในเมียนมา เมื่อเฟซบุ๊กถูกระงับการใช้งาน ชาวเมียนมาจำนวนมากจึงย้ายไปใช้ทวิตเตอร์ ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หรือเริ่มใช้บริการวีพีเอ็น เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกระงับ ในขณะที่ตามท้องถนนในย่างกุ้งเต็มไปด้วยเสียงจากประชาชนที่ทุบหม้อและบีบแตรรถเป็นคืนที่ 3 แสดงออกถึงการต่อต้านการรัฐประหาร แฮชแท็กที่ต่อต้านการรัฐประหารรวมถึง#HearTheVoiceof Myanmar และ #RespectOurVotes ได้รับความนิยมบน Twitter ในเมียนมาเมื่อวันที่ 5 ก.พ. มีโพสต์มากกว่า 7 ล้านโพสต์ที่อ้างถึงแฮชแท็กเหล่านี้

...

ในโลกออนไลน์ มีการเคลื่อนไหวที่เรียกว่าอารยะขัดขืน เรียกร้องให้ประชาชนส่งเสียงทุกคืนด้วยการทุบหม้อและเสียงฉาบเพื่อแสดงการต่อต้าน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการประท้วงขนาดใหญ่เกิดขึ้น มีเพียงกลุ่มแพทย์กลุ่มเล็กที่รวมตัวกันสวมริบบิ้นสีแดงซึ่งเป็นสีของพรรคเอ็นแอลดี รวมทั้งสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี ราว 70 คนได้ประชุมรัฐสภาเชิงสัญลักษณ์ ณ บริเวณที่พักของพวกเขาในกรุงเนปิดอว์ โดยลงนามในคำมั่นว่าจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนเมื่อ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ยังมีการเรียกร้องให้บริษัทข้ามชาติที่ทำงานร่วมกับธุรกิจที่เชื่อมโยงกับกองทัพของเมียนมาตัดความสัมพันธ์เพื่อเป็นการกดดันกองทัพ โดยคิริน ผู้ผลิตเบียร์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นได้ยุติการร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทที่ทหารเป็นเจ้าของ.