• เมียนมา เป็นสมาชิกอาเซียน ตั้งแต่ปี 2540 ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของประชาคมอาเซียนตกต่ำ มาอย่างต่อเนื่อง จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายรูปแบบ หรือแม้จะพยายามให้เกิดประชาธิปไตย ท้ายสุดก็ล้มเหลว และเสื่อมถอยด้วยการยึดอำนาจรัฐประหารของกองทัพเมียนมา เมื่อเช้าตรู่วันที่ 1 ก.พ. 2564 นำโดย “มิน อ่อง หล่าย” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

  • ขณะที่ท่าทีของกลุ่มประเทศอาเซียน ต่อเมียนมา ยังคงเสมอต้นเสมอปลายไม่เคยเปลี่ยน ยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการของเมียนมา อาจเป็นเพราะความไม่เป็นเอกภาพของประเทศสมาชิกอาเซียน ในการกดดันเมียนมา และเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ผ่านความร่วมมือในหลายโครงการ ไม่มีความจำเป็นต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ทำลายความสัมพันธ์ตรงนี้

  • ไม่แปลก รัฐบาลไทย หนึ่งในประเทศอาเซียน แทบจะไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ต่อการรัฐประหารในครั้งนี้ เพราะคนในกองทัพเมียนมา มีความสนิทใกล้ชิดกับบุคคลสำคัญในรัฐบาลไทยมาอย่างเนิ่นนาน และไทยเป็นมิตรกับทุกๆ ประเทศมาโดยตลอด จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศใดๆ

...

ยิ่งเห็นภาพชัดขึ้นในความสัมพันธ์ของเมียนมากับชาติสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะไม่เข้ามายุ่งในกิจการภายในระหว่างกัน เมื่อ “ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู” ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะนักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ออกมาระบุอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญ ก็เพราะประเทศในภูมิภาคอาเซียน มีปัญหาเรื่องประชาธิปไตย โดยเฉพาะไทยและกัมพูชา จึงไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์เมียนมาได้ และยังคงยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการซึ่งกันและกัน มีเพียงการออกมาของประธานอาเซียน ซึ่งปัจจุบันประเทศบรูไนทำหน้าที่ ได้เรียกร้องให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วเท่านั้น ไม่ได้แถลงการณ์ในนามประเทศอาเซียนโดยรวม แต่ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย ได้ออกมาเรียกร้องอย่างหนึ่งอย่างใด โดยไม่มีมาตรการร่วมกัน เพราะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในอนาคตของเมียนมา

“ดูสถานการณ์ตอนนี้แล้ว เริ่มมีปฏิกิริยาในประเทศ หากกว้างขวางมากขึ้น และทหารเมียนมาออกมาตอบโต้รุนแรง อาจยกระดับความขัดแย้ง เกิดการขยายตัวต่อไปจนเกิดความตึงเครียด และในที่สุดอาจเป็นปัญหาระหว่างอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาคได้ อย่างกรณีสหประชาชาติ ไม่สามารถออกแถลงการณ์ในนามคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ตามข้อเรียกร้องของอังกฤษให้ร่วมกันประณามเมียนมา และแม้มีความพยายามผลักดันของเลขาฯ สหประชาชาติ แต่ทั้งจีนและรัสเซียคัดค้าน สามารถใช้สิทธิ์วีโต้ปัดตกได้ อีกทั้งประเทศตะวันตกทำการค้าขายกับเมียนมา ทำให้นักธุรกิจกังวลการค้าการลงทุนจะสะดุด และท้ายสุดจะทำให้เมียนมาไปพึ่งพาจีนมากขึ้น”

ขณะที่ ประเทศญี่ปุ่น มองว่าการคว่ำบาตรเมียนมา อาจกระทบต่อคนทั่วไปในเมียนมาเท่านั้น แต่ไม่กระทบกองทัพเมียนมา อาจหันไปพึ่งจีนมากขึ้น และปัจจุบันบริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่น เช่น โตโยต้า นิสสัน ได้ระงับแผนการลงทุนในเมียนมาไปแล้ว

ส่วนอีกสิ่งที่น่าจับตา หากชาวเมียนมาออกมาต่อต้านกองทัพมากขึ้น ซึ่งมองได้ 2 แง่ เพราะในที่สุดแล้วอยู่ที่คนเมียนมา มีความพร้อมเพรียงมากน้อยเพียงใดในการออกมาต่อต้านรัฐบาลทหาร ถือเป็นความไม่แน่นอนและยังไม่ชัดเจนเรื่องจำนวนคนที่ออกมาต่อต้านว่าจะบั่นทอนกองทัพได้หรือไม่ อีกอย่างข้อมูลข่าวสารในขณะนี้ถูกปิดกั้นไม่ให้ออกไปสู่โลกภายนอก

มูลเหตุรัฐประหารพม่า เพราะ "มิน อ่อง หล่าย" ทะเยอทะยาน

...

ในอีกแง่หนึ่งหากทหารเมียนมาด้วยกันเอง อาจออกมาสนับสนุนประชาชนหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้น่าสนใจ หากเป็นเช่นนั้นอาจทำให้ทหารรุ่นเก่าไม่สามารถทัดทานได้ หรือข้อมูลเขตเลือกตั้งของทหารที่ไม่มีการเปิดเผยชัดเจน เพราะข้อมูลทุกอย่างมีการปิดกั้น แต่สรุปแล้วเรื่องที่เกิดขึ้นมาจากความทะเยอทะยานของ "มิน อ่อง หล่าย" ต้องการหาพันธมิตรมากมาย เพื่อก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ภายหลังเกษียณอายุในเดือนก.ค.นี้ และแต่งตั้งคนของตัวเองมาทำหน้าที่สำคัญ เพราะเมื่อขึ้นหลังเสือแล้ว หากจะลงมาอาจโดนเช็กบิล จึงเป็นมูลเหตุจูงใจในการก่อรัฐประหาร และเกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ของตัวเองและของกองทัพ

เพราะฉะนั้นแล้วการที่ประชาคมอาเซียน จะมีท่าทีต่อไปอย่างไรกับเมียนมา ขึ้นอยู่กับผู้นำของอาเซียน จะมองระยะสั้นหรือยาว หากเมียนมาเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งต่อเนื่อง ผ่านการกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็น่าจะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ประชาคมอาเซียน แต่ขณะนี้บรูไน ทำหน้าที่ประธานอาเซียน ซึ่งเป็นประเทศเล็ก จึงไม่มีน้ำหนักมากพอทำให้เกิดฉันทามติ แม้กระทั่งประเทศฟิลลิปปินส์ ก็ยังไม่ออกมา เพราะผู้นำอาเซียนไม่แข็งพอที่จะออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ 

...

อีกอย่างเรื่องผลประโยชน์ในเมียนมามหาศาล ทำให้หลายประเทศต่างก็อยากได้ แต่เสถียรภาพของรัฐบาลเมียนมาต้องมีความเข้มแข็ง โดยต้องเป็นรัฐบาลมาจากพลเรือน เนื่องจากรัฐบาลทหารไม่มีความแน่นอนยั่งยืน จากกระแสต่อต้าน ดังนั้นรัฐบาลเมียนมาต้องมาจากพลเรือนที่ยึดมั่นประชาธิปไตย จะเป็นประโยชน์มากสุดต่อภูมิภาคอาเซียน ในการดึงดูดนักลงทุน และกระแสในระยะหลังถือว่า "ออง ซาน ซูจี" เป็นขวัญใจของคนเมียนมา จึงอยากสลัดบทบาททหารที่ครอบงำประเทศมายาวนาน หากทำอย่างชัดเจนจะทำให้รัฐบาลพลเรือนมีเสถียรภาพ แต่สุดท้ายกองทัพไม่ยอมจึงก่อรัฐประหาร

...

อนาคตเมียนมาจะเป็นอย่างไร ยังไม่ชัดเจนว่าทหารจะคุมสถานการณ์ได้หรือไม่ ต้องติดตามอีกระยะหนึ่ง จะทราบถึงกระแสของประชาชนว่ากว้างขวางเพียงใด ภายหลังมีการประท้วงของหมอ พยาบาล และประชาชน ออกมาแสดงอารยะขัดขืน ทั้งตีหม้อ ไห กะละมัง สะท้อนถึงความไม่พอใจต่อกองทัพเมียนมา รวมถึงเศรษฐกิจของเมียนมา จะเป็นอย่างไรภายใต้อุ้งมือของกองทัพ ว่าจะยาวนานเพียงใด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง โดยมองข้ามประเทศชาติและประชาชน ที่สุดแล้วจะถูกประณามจากนานาประเทศ และถูกคว่ำบาตร อาจทำให้การค้าการลงทุนหยุดชะงักไปอย่างน่าเสียดาย

ผู้เขียน : ปูรณิมา