กลิ่นการ รัฐประหารในเมียนมา โชยตั้งแต่ยังไม่มีการเลือกตั้ง จนกระทั่งการเลือกตั้งผ่านไป ฝ่ายรัฐบาลที่มี อองซาน ซูจี เป็นแกนนำ สามารถเอาชนะ พรรคฝ่ายค้าน ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กองทัพ อย่างเป็นเอกฉันท์ ได้ที่นั่งในสภาทั้งสภาล่าง สภาสูงเพิ่มขึ้น

ท่ามกลางกระแสการกล่าวหาทุจริตเลือกตั้งจากกองทัพ

พรรค USDP หรือแปลเป็นไทยว่า พรรคสหสามัคคีและพัฒนา พรรคฝ่ายค้านที่กองทัพหนุนอยู่ ไปแจ้งต่อ กกต.เมียนมา ขอให้ตรวจสอบบัตรเลือกตั้งที่เกินมากว่า 8.6 ล้านคะแนน แต่ ทาง กกต.เมียนมาอ้างว่าไม่มีหลักฐานชัดเจน แม้จะผ่านการเลือกตั้งมาตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.ปีที่แล้ว ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า

จนกระทั่งจะมีการเปิดสภาในวันที่ 1 ก.พ. พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผบ.สส.ของเมียนมา ได้ต่อรองกับ รัฐบาลอองซาน ซูจี ให้เลื่อนการเปิดประชุมสภาออกไปก่อน เพื่อรอให้ผลการเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรมกว่านี้ แต่ รัฐบาลอองซาน ซูจี กลับเมินเฉย สร้างความไม่พอใจให้กับกองทัพ

ก่อนที่จะมีพิธีเปิดการประชุมสภาไม่กี่ชั่วโมง ทหาร เข้าจับตัว อองซาน ซูจี และแกนนำการเมืองฝ่ายรัฐบาลทันที คนที่พอจะรู้เค้าลางของการ ยึดอำนาจ เผ่นหนีกระจัดกระจาย ในขณะที่ กองทัพเมียนมา เข้าควบคุมและยึดที่ตั้งของ ค่ายประชา-ธิปไตย์ เอาไว้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แถมปลุกระดมให้คนเมียนมาออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม จาก กกต.

เป็นอันว่า พรรค NLD แกนนำรัฐบาลเมียนมา อองซาน ซูจี และประธานาธิบดี วีน มหยิ่น ของเมียนมา ถูกยึดอำนาจเรียบร้อยโรงเรียนกองทัพ

ที่ต้องติดตามคือท่าทีของ กองทัพ จะกลับมาเป็น รัฐบาลทหาร แบบเต็มรูปแบบ หรือ เป็นรัฐบาลทหารประชาธิปไตย โมเดลเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน

...

รวมทั้งปฏิกิริยาของ ประเทศมหาอำนาจ และขั้วประชาธิปไตย ต่อการยึดอำนาจของ กองทัพเมียนมา ในครั้งนี้อย่างไร นอกจากนี้ คือเสียงของ ประชาชนเมียนมา เองจะออกมาชุมนุม สนับสนุนฝ่ายใด มากกว่ากัน

เบื้องต้นหลายประเทศยังเฝ้าสังเกตการณ์ต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในเมียนมาในลำดับต่อไป ที่เชื่อว่าจะมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุน กองทัพและประชาธิปไตย หากเกิดความรุนแรงขึ้นในเมียนมา ไม่เป็นผลดีต่อฝ่าย ประชาธิปไตยของเมียนมา วิกฤติการเมืองจะลากยาวและเป็นเผด็จการทหารสมบูรณ์แบบ

เมียนมาได้รับการสนับสนุนหลักจากจีนเป็นส่วนใหญ่ การลงทุนของจีนในเมียนมามีสัดส่วนที่มากกว่าประเทศอื่นๆ เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ในเมียนมาจะคลี่คลายไปในทิศทางใด ขึ้นอยู่กับผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการด้วย

ประชาธิปไตยในย่านนี้มีจุดเริ่มต้นและจุดจบที่ไม่แตกต่างกัน.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th