สัปดาห์ก่อน กูเกิล เปิดเผยว่าจะจ่ายเงินให้กับสำนักพิมพ์/ผู้ผลิตคอนเทนต์ข่าวในฝรั่งเศส สำหรับการเผยแพร่เนื้อหาข่าวบนแพลตฟอร์มของกูเกิล และยังเตรียมนำข้อตกลงดังกล่าวไปใช้ในประเทศอื่นๆในยุโรปต่อไปภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ที่สมาชิกรัฐสภายุโรปลงมติรับรองเมื่อเดือน มี.ค.ปี 2562

เมื่อกฎใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อปีก่อน ฝรั่งเศสได้กำหนดให้สำนักพิมพ์-ผู้ผลิตคอนเทนต์ ต้องได้รับค่าตอบแทนสำหรับเนื้อหาข่าวที่แสดงในผลการค้นหา โดยกูเกิลประกาศว่าจะแสดงให้เห็นเฉพาะหัวข้อข่าวเท่านั้น แต่ต่อมาในเดือนเมษายน หน่วยงานต้านการผูกขาดของฝรั่งเศสได้ตัดสินว่า การกระทำของกูเกิลเป็นการ “ใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ” และสั่งให้ไปเจรจากับสำนักพิมพ์-ผู้ผลิตคอนเทนต์ในฝรั่งเศส

ในการแถลงร่วมกับสมาคมสื่อฝรั่งเศส กูเกิลกล่าวว่าได้ตกลงในหลักการที่จะจ่ายค่าตอบแทน แต่ไม่ให้รายละเอียดว่าจะจ่ายค่าตอบแทนเท่าใด ขณะนี้ได้ลงนามในข้อตกลงการอนุญาตให้ใช้สิทธิ กับหนังสือพิมพ์รายวันและนิตยสารชั้นนำของประเทศจำนวนหนึ่ง ด้านตัวแทนสื่อฝรั่งเศสกล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงสิทธิอันชอบธรรมของสำนักพิมพ์/ผู้ผลิตคอนเทนต์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการได้รับค่าตอบแทนจากการที่แพลตฟอร์มดิจิทัลที่นำคอนเทนต์ไปเผยแพร่ในช่องทางออนไลน์

สหภาพยุโรปแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ในปี 2562 ซึ่งมีผลทำให้ แพลตฟอร์มต่างๆ เช่น กูเกิล และยูทูบ เป็นผู้รับผิดชอบต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นโดยผู้ใช้งาน ซึ่งมีการโต้แย้งกันอย่างดุเดือด นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ เสิร์ช เอนจิน หรือเครื่องมือค้นหาและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต้องแบ่งปันรายได้กับผู้ผลิตคอนเทนต์หากมีการแสดงเนื้อหาในแพลตฟอร์มของตน ฝรั่งเศสเป็นประเทศเดียวในสหภาพยุโรปที่นำกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้ คาดว่าประเทศอื่นๆในสหภาพยุโรปจะปฏิบัติตามก่อนที่จะมีการบังคับใช้ในวันที่ 7 มิถุนายนปีนี้

...

ก่อนหน้านี้ กูเกิลประกาศเมื่อปีที่แล้วว่าจะจ่ายเงินให้มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ปีข้างหน้า กับสำนักพิมพ์ผู้ผลิตคอนเทนต์ สำหรับบริการใหม่ที่เรียกว่า นิวส์ โชว์เคส ซึ่งสำนักพิมพ์ผู้ผลิตคอนเทนต์สามารถดูแลและตัดสินใจว่าจะนำเสนอเนื้อหาของตนบนแพลตฟอร์มอย่างไร และยังกระตุ้นให้อ่านคลิกไปยังเว็บไซต์ของตนเพื่ออ่านเพิ่มเติม โดยได้ตกลงกับสิ่งพิมพ์เกือบ 450 เล่ม ในหลายสิบประเทศ

ขณะที่ในซีกโลกใต้ที่ออสเตรเลีย ที่กำลังจะบังคับใช้กฎหมายใหม่ ให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีต้องจ่ายเงินค่าข่าวที่ปรากฏเมื่อมีการค้นหาหรือแชร์ข่าวบนแพลตฟอร์มของพวกเขาไม่ต่างจากในยุโรป แต่กูเกิลกลับอ้างว่าไม่สามารถปฏิบัติได้ และยังขู่ว่าจะปิดบริการค้นหาในออสเตรเลียอีกด้วย.

อมรดา พงศ์อุทัย