ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยทือบิงเงิน ในเยอรมนี และสถาบันโบราณคดีซอนย่า แอนด์ มาร์โค แห่งมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ ในอิสราเอล ได้ศึกษาเครื่องมือหินที่ได้จากแหล่งโบราณคดีเรวาดิมในอิสราเอลเป็นเวลาหลายปีเพื่อทำความเข้าใจการทำงานของเครื่องมือที่มีอายุ 500,000-300,000 ปี
เรวาดิมเป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมมากในครั้งอดีต เนื่องจากมีมนุษย์เข้ามาอาศัยอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และดูจะเป็นกลุ่มโฮโม อิเลคตัส (Homo Erectus) เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังพบซากสัตว์ที่ถูกล่ามา เช่น ช้าง วัว กวาง เนื้อทราย ทีมวิจัยเผยว่ามนุษย์ที่อาศัยในเรวาดิมช่วงก่อนประวัติศาสตร์ได้พัฒนาชุดเครื่องมืออเนกประสงค์ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ต่างจากชุดเครื่องมือของพ่อค้ายุคนี้ นักวิจัยมุ่งศึกษา “เครื่องมือสับ” ที่เป็นก้อนหินมีขอบบางคมและใหญ่ ตัวอย่างหินที่นำมาวิเคราะห์ร่องรอยการสึกหรอและหาสารตกค้างอินทรีย์มีอยู่ 53 ชิ้น หลายชิ้นมีความเสียหายที่ขอบอย่างมาก เป็นผลมาจากการสับของแข็ง บางชิ้นยังมีกระดูกสัตว์ติดค้างนานเกือบครึ่งล้านปี
นักวิจัยเชื่อว่ามนุษย์ยุคแรกสับกระดูกสัตว์ออกเป็น 2 ท่อนเพื่อสกัดไขกระดูกที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากิน หินสับกระดูกนี้ทำขึ้นในแอฟริกาเมื่อราว 2,600,000 ปีก่อน จากนั้นมนุษย์ก็หอบหิ้วเครื่องมือเหล่านี้อพยพไปดินแดนส่วนอื่นในโลก เครื่องมือจำนวนมากจึงถูกพบในพื้นที่ก่อนประวัติศาสตร์เกือบทุกแห่งทั้งในแอฟริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง หรือแม้แต่จีน นี่จึงเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของมนุษย์โบราณ.
ภาพ : Prof. Ran Barkai