• ออกซ์แฟมชี้ ไวรัสโควิด-19 สร้างวิกฤติความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้คนรวย ยิ่งรวยล้นฟ้าใช้เวลาไม่นานก็ฟื้นตัว ขณะที่คนจนต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี เพื่อฟื้นตัวจากผลกระทบจากไวรัสมรณะในครั้งนี้
  • 10 อภิมหาเศรษฐีของโลกมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 3.9 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงโควิด-19 ระบาด ซึ่งเป็นมูลค่าที่มากเพียงพอที่จะจ่ายค่าวัคซีนให้แก่คนทั้งโลกได้
  • หากไม่จัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น ประชากรยากจนที่มีรายได้ต่ำกว่า 5.50 ดอลลาร์ต่อวันจะเพิ่มขึ้นอีก 500 ล้านคนภายในปี 2030

ตีแผ่ไวรัสแห่งความไม่เท่าเทียม

ออกซ์แฟม องค์กรไม่แสวงผลกำไร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในสังคมโลกเปิดเผยว่า วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ยิ่งทวีความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนรวยและยากจนให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น

โดยผลการศึกษาของ ออกซ์แฟม ที่เปิดเผยในช่วงเดียวกับงาน เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม วันแรก ได้ประมาณการว่า มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก 1,000 คน ใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 9 เดือนในการฟื้นตัวให้ตัวเองกลับมามีรายได้เทียบเท่ากับที่สูญเสียไปในช่วงโควิด-19 ในขณะที่คนยากจนอาจจะต้องใช้เวลานานมากกว่าสิบปีกว่าที่จะพลิกฟื้นฐานะการเงินของตัวเองให้กลับมาฟื้นตัวได้

โควิด-19 ไวรัสแห่งความไม่เท่าเทียม เพิ่มความเหลื่อมล้ำ ซ้ำเติมคนจน

...

รายงานของออกซ์แฟมยังประเมินด้วยว่า มูลค่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีทั่วโลก ระหว่างวันที่ 18 มี.ค.จนถึง 31 ธ.ค.ปี 2020 เพิ่มขึ้นราวๆ 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 11.95 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เฉพาะมหาเศรษฐี 10 อันดับแรกของโลก เช่น เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์แอมะซอน อีลอน มัสก์ เจ้าของเทสลา บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ และ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอเฟซบุ๊ก มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นประมาณ 540,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากพอที่จะซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชากรทั้งโลกได้

ในขณะเดียวกัน ไวรัสมรณะตัวนี้ ยังทำให้เกิดวิกฤติงานที่เลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 90 ปี โดยมีประชากรโลกหลายร้อยล้านคนที่ยังคงตกงาน ไม่มีงานทำในเวลานี้ โดยกลุ่มของผู้หญิง และชนกลุ่มน้อยดูเหมือนจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากโรคระบาดครั้งนี้

การเข้าถึงวัคซีนก็เป็นกระจกสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของคนรวยและคนจนได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากประเทศที่ร่ำรวยได้สั่งซื้อวัคซีนในลอตแรกๆ และได้ฉีดวัคซีนให้ประชากรของตนเองแล้ว ในขณะที่ประเทศที่ยากจน ยังคงต้องรับวัคซีนจากความช่วยเหลือขององค์การอนามัยโลก และไม่สามารถสั่งซื้อวัคซีนในปริมาณที่เพียงพอกับประชากรของตัวเองได้

ออกซ์แฟมยังใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้ทุกประเทศเร่งแก้ปัญหากับความไม่เท่าเทียมกัน และให้ยกเรื่องนี้เป็นหัวใจของการกู้และฟื้นตัวทางเศรษฐกิจด้วย

ออกซ์แฟมระบุว่า โควิด-19 เพิ่มความไม่เท่าเทียมกันในเกือบทุกประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ขึ้นในช่วงนับร้อยปีที่ผ่านมา ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้นนี้ หมายถึงคนที่มีฐานะยากจนต้องใช้เวลานานกว่าอภิมหาเศรษฐี 1,000 อันดับโลกอย่างน้อย 14 เท่า ในการที่จะพาตัวเองกลับมามีสภาพคล่องทางการเงินเทียบเท่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดได้ ที่สำคัญมีแนวโน้มที่กลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวยซึ่งเป็นเพศชายผิวขาว จะกลับมามีฐานะทางการเงินฟื้นตัวได้เร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ

โควิด-19 ไวรัสแห่งความไม่เท่าเทียม เพิ่มความเหลื่อมล้ำ ซ้ำเติมคนจน

ความไม่เท่าเทียมกันที่มีมายาวนาน

ข้อมูลที่ออกซ์แฟมเปิดเผยครั้งนี้ เป็นการนำข้อมูลจากหลายแหล่งมาคำนวณเข้าด้วยกัน ทั้งข้อมูลรายชื่ออภิมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยจากการจัดอันดับของฟอร์บส์ประจำปี 2020 และยังใช้ข้อมูลของธนาคารโลกเพื่อประเมินความไม่เท่าเทียมกัน โดยพบว่า ถ้าระดับความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มขึ้น 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ขณะที่จีดีพีเติบโตขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์ จะส่งผลให้ประชากรโลกราว 501 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่า 5.50 ดอลลาร์ต่อวันในปี 2030 เมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่ไม่มีการเพิ่มขึ้นของความไม่เท่าเทียม ด้วยเหตุนี้ ระดับความยากจนของโลกจะเพิ่มขึ้น ในปี 2030 มากกว่าช่วงก่อนที่จะมีโควิดระบาด ซึ่งจะทำให้มีประชากรมากถึงราว 3.4 พันล้านคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 5.50 ดอลลาร์ต่อวัน

องค์การอ็อกแฟมยังได้รวบรวมผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยนักเศรษฐศาสตร์ 295 คนจาก 79 ประเทศทั่วโลกพบว่า 87% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ต่างคาดว่าจะเกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในประเทศของตัวเองเพิ่มขึ้น หรือ เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการแพร่ระบาดของโรค

การเก็บภาษีชั่วคราวผลกำไรส่วนเกินช่วยคนจน

...

ออกซ์แฟมเสนอแนวทางแก้ปัญหาในเวลานี้ว่า หากมีเก็บภาษีชั่วคราวสำหรับกำไรส่วนเกินจากบริษัทระดับโลก 32 แห่งที่ได้กำไรมากที่สุดในช่วงการแพร่ระบาดของโรค อาจได้เงินถึง 104,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020 ซึ่งเพียงพอสำหรับการจัดสวัสดิการให้แก่คนว่างงานทุกคน รวมทั้งเป็นเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่เด็กและผู้สูงอายุทุกคนในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางได้ด้วย

กาบรีลา บุชเชอร์ ผู้อำนวยการบริหารองค์การออกซ์แฟม ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีความรุนแรงไม่ต่างจากตัวไวรัส ซึ่งแม้ความเหลื่อมล้ำอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่รัฐบาลแต่ละประเทศยังมีทางเลือก และควรใช้โอกาสนี้เพื่อสร้างความเท่าเทียม ยุติปัญหาความยากจนและต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลต้องดูแลให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเงินวัคซีน และเข้าถึงเงินช่วยเหลือเยียวยาสำหรับผู้ที่ตกงาน โดยมาตรการต่างๆ จะต้องเป็นนิวนอร์มอลในระยะยาว ที่ทำให้เกิดประโยชน์แก่ทุกคน ไม่ใช่แค่เฉพาะผู้มีสิทธิพิเศษเพียงบางกลุ่มเท่านั้น.