ทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อนนำไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ นอกจากจะกวาดล้างไดโนเสาร์ไปหมดโลกแล้วยังฆ่าพืชพรรณจำนวนมาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความหลากหลายทางชีวภาพทั้งหมดที่เห็นกันในปัจจุบันนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตที่เหลือรอดจากการสูญพันธุ์ครั้งนั้นมา

เมื่อเร็วๆนี้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในสหรัฐอเมริกา นำโดยเอเลนา สไตล์ส เผยผลวิจัยซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลใบไม้มากกว่า 3,500 ใบที่ได้มาจาก 2 พื้นที่ในภูมิภาคปาตาโกเนีย แห่งอาร์เจนตินา เพื่อระบุถึงจำนวนสิ่งมีชีวิตในยุคครีเตเชียสที่เหลือรอดจากเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในยุคพาลีโอจีน (Paleogene) นักวิจัยพบอัตราการสูญพันธุ์ในระดับสปีชีส์ (Species) ที่น่าประหลาดใจ ซึ่งอาจสูงถึง 92% ในปาตาโกเนีย เรียกว่าสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในงานวิจัยก่อนหน้านี้ นักวิจัยเผยว่าการวิเคราะห์ฟอสซิลใบไม้บ่งบอกว่าพืชพรรณในแถบอเมริกาใต้นั้นเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ แต่ก็ได้รับการสนองตอบอย่างรวดเร็ว และการฟื้นตัวของระบบนิเวศน่าจะใช้เวลาหลายล้านปี และการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของใบไม้จากยุคครีเตเชียสไปจนถึงยุคพาลีโอจีน อาจให้เบาะแสเกี่ยวกับชนิดของสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

ทีมยังพบว่ามีความหลากหลายของรูปแบบใบมากขึ้นในยุคพาลีโอจีน ที่น่าฉงนก็คือการสูญพันธุ์อยู่ในระดับสูงและจำนวนสปีชีส์ก็ลดลงเมื่อสิ้นสุดยุคครีเตเชียส แต่ถึงการสูญพันธุ์จะมีระดับสูงในช่วงท้ายยุคครีเตเชียส ทว่าพืชในอเมริกาใต้ส่วนใหญ่กลับรอดชีวิตและมีความหลากหลายมากขึ้นในยุคพาลีโอจีน ซึ่งผู้รอดก็จะเป็นต้นไม้ขนาดเล็กมีใบเขียวเข้ม เช่น ใบกระวาน อะโวคาโด ตระกูลกุหลาบ ส่วนผลไม้ก็เช่น ราสเบอร์รีและสตรอว์เบอร์รี.

(ภาพจาก : Ekene Stlles)

...