หลังจากมีข้อกังวลว่าประเทศร่ำรวยจะกว้านซื้อวัคซีนไป จนประเทศที่ยากจนกว่าอาจจะเข้าไม่ถึงโอกาส องค์การอนามัยโลกจึงทำโครงการโคแวกซ์ (COVAX) เพื่อเป็นตัวกลางจัดหาวัคซีน ซึ่งล่าสุด ทำข้อตกลงกับวัคซีนไฟเซอร์ เตรียมแจกจ่ายแล้วกุมภาพันธ์นี้ 40 ล้านโดส
นายทีโดรส อัดฮานอม กีเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกหรือ WHO แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2021 ว่า โครงการโคแวกซ์ (COVAX - Covid-19 Vaccines Global Access Facility) บรรลุข้อตกลงกับบริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคแล้ว ว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะส่งวัคซีนของไฟเซอร์จำนวน 40 ล้านโดสให้แก่ประเทศยากจนกว่าที่เข้าร่วมโครงการ และตั้งเป้ากระจายวัคซีนให้ได้ 2 พันล้านโดสภายในปีนี้
โครงการโคแวกซ์ ริเริ่มโดยองค์การอนามัยโลก พันธมิตรวัคซีนกาวี (Gavi the Vaccine Alliance) และกลุ่มแนวร่วมนวัตกรรมเพื่อเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations) มีเป้าหมายเพื่อแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียมกันทั่วโลก ตอนนี้มี 92 ประเทศ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ รายได้ต่ำ รายได้ปานกลาง-ต่ำ และอื่นๆ ซึ่งเป็นสมาชิกโคแวกซ์แล้วและเข้าข่ายจะได้รับการสนับสนุนวัคซีน
ผู้อำนวยการ WHO กล่าวว่า การแจกจ่ายวัคซีนอย่างเร่งด่วนและเป็นธรรม ไม่ใช่แค่ข้อบังคับทางศีลธรรม แต่ยังเป็นข้อบังคับทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจด้วย ข้อตกลงกับไฟเซอร์นี้จะช่วยทำให้โคแวกซ์รักษาชีวิตผู้คน ทำให้ระบบสุขภาพมีเสถียรภาพและขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก
วัคซีนลอตแรกที่จะใช้ เป็นของบริษัทไฟเซอร์ ซึ่งพ้นจากวัคซีนลอตนี้แล้ว เซธ เบิร์คลีย์ ซีอีโอของกองทุนพันธมิตรวัคซีนกาวียืนยันว่า จะมีวัคซีนของแอสตราเซเนกาอีก 150 ล้านโดสภายในไตรมาสแรกของปี 2021 โดย 100 ล้านโดสจะมาจากข้อตกลงการผลิตร่วมกับสถาบันเซรั่มของอินเดีย โดยขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบเพื่อรับรองความปลอดภัย ส่วนอีกอย่างน้อย 50 ล้านโดส เป็นข้อตกลงกับแอสตราเซเนกา
...
สำหรับการเตรียมและแจกจ่ายวัคซีนจะนำโดย WHO, องค์การยูนิเซฟ และกาวี จากเงินตั้งต้นของกองทุนกาวี 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่สนับสนุนการขนส่ง ทั้งนี้ WHO เตรียมประกาศพิจารณาข้อเสนอแผนการใช้และแจกจ่ายวัคซีนของแต่ละประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันว่า จะส่งวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพและต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ อัลเบิร์ต บาวลา ซีอีโอของไฟเซอร์กล่าวว่า บริษัทจะช่วยขนส่งวัคซีน ซึ่งต้องการการเก็บไว้ในที่อุณหภูมิต่ำมากและต้องดูแลเป็นพิเศษแก่ประเทศรายได้น้อย
ทั้งนี้ ประเทศอาเซียนที่ลงนามเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์แล้วได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน กัมพูชา พม่า ลาว อินโดนีเซีย ส่วนประเทศไทยอยู่ระหว่างการแจ้งความจำนงขอเข้าร่วม