จากผลการศึกษาวิจัยที่ทำร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกงกับสถาบันด้านชราภาพวิทยามหานครโตเกียวของญี่ปุ่นที่เผยแพร่ลงในวารสาร “เนเจอร์ ฮิวแมน บีแฮฟวิออร์” พบว่า สัดส่วนการอัตวินิบาตกรรมในญี่ปุ่นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสตรีและเด็ก แม้เคยมีปัญหานี้ในช่วงของการระบาดในรอบแรกแต่ก็ได้รับการช่วยเหลือจากการเยียวยาของภาครัฐ
ทั้งนี้ สัดส่วนการฆ่าตัวตายช่วงเดือน ก.ค.ถึงเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า 16% ต่างจากช่วงเดือน ก.พ. ถึงเดือน มิ.ย. ที่สัดส่วนลดลง 14% ซึ่งไม่ใช่สถานการณ์เรื่องเศรษฐกิจปกติ แต่เป็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็ก วัยรุ่น และผู้หญิง โดยเฉพาะแม่บ้าน ขณะที่การฆ่าตัวตายก่อนหน้าที่ลดลงมีองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งการเยียวยาของรัฐบาล การลด ชม.ทำงานและการสั่งปิดโรงเรียน
ด้านนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูกะ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งในกรุงโตเกียวและ 3 จังหวัดโดยรอบเพื่อป้องกันจำนวนผู้ติดเชื้อ และยังขยายเพิ่มอีก 7 จังหวัด รวม จ.โอซากา กับ จ.เกียวโต ขณะที่นายทาโร โคโนะ รัฐมนตรี ปฏิรูปกฎระเบียบและการบริหารเผยว่า ประชาชนกังวลเรื่องโควิด-19 แต่ก็มีหลายคนที่ฆ่าตัวตายเพราะตกงาน สูญเสียรายได้และหมดหวัง รัฐบาลจึงต้องแก้ปัญหาให้เกิดความสมดุลระหว่างบริหารจัดการโควิด-19 และบริหารเศรษฐกิจ.