ยานสำรวจจูโนของนาซา พบคลื่นวิทยุ เอฟเอ็ม จากดวงจันทร์แกนีมีด ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีเป็นครั้งแรก
เมื่อ 12 มกราคม 64 เว็บไซต์ไซแอนซ์ไทม์ และฟอกซ์8 รายงานว่า ยานอวกาศจูโน ขององค์การบริหารอวกาศและการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) ตรวจพบคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม จากดวงจันทร์แกนีมีด (Ganymede)ซึ่งเป็นดวงจันทร์ขนาดใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสบดี เป็นครั้งแรก
นักวิทยาศาสตร์นาซา ระบุว่า คลื่นวิทยุเอฟเอ็มที่ยานจูโนตรวจพบมีระยะเวลาแค่เพียง 5 วินาที ขณะที่ยานกำลังเคลื่อนด้วยความเร็ว 50 กิโลเมตรต่อวินาที ผ่านขั้วดวงจันทร์แกนีมีด ซึ่งเป็นจุดที่สนามแม่เหล็กของดาวพฤหัสฯเชื่อมต่อกับสนามแม่เหล็กของดวงจันทร์ดวงนี้

...
นายแพตทริก วิกกินส์ ทูตของนาซาประจำรัฐยูทาห์ กล่าวว่า การพบคลื่นเอฟเอ็มบนดวงจันทร์ครั้งนี้ คงไม่ใช่มาจากมนุษย์ต่างดาว หรือ E.T. แต่ดูเหมือนมาจากแหล่งธรรมชาติมากกว่า ขณะที่ตัวเขาเองเชื่อว่ามีสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์แกนีมีด แต่คิดว่ามันคงไม่ใช่ E.T.
เพราะการพบคลื่นวิทยุเอฟเอ็มจากดวงจันทร์เป็นครั้งแรกครั้งนี้ เกิดขึ้นขณะยานจูโนกำลังเคลื่อนผ่านบริเวณขั้วดวงจันทร์แกนีมีด ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนผ่านตัดเส้นคลื่นวิทยุแบบเดคะเมตริก (decametric radio emission) ซึ่งเกิดมาจากการกวัดแกว่งของอนุภาคอิเล็กตรอน หรือบนโลก เรารู้จักในชื่อว่า wi-fi และใช้มันทุกวัน

ตามรายงานของ Britannica.com เผยว่ามีการตรวจพบคลื่นวิทยุจากดาวพฤหัสบดีตั้งแต่ในปี 1955 และในช่วง 66 ปีที่ผ่านมา มีการตรวจพบสัญญาณวิทยุจากดาวพฤหัสบดีหลายครั้งหลายหน จนทำให้พบวิธีการทำงานของสัญญาณคลื่นวิทยุ

ดวงจันทร์แกนีมีด เป็นดาวบริวารดวงหนึ่งของดาวพฤหัสบดี ซึ่งถือเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสบดี และยังเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5,268 กิโลเมตร มีสนามแม่เหล็กสูง พื้นผิวของดวงจันทร์แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาบริเวณชั้นผิวเปลือกมายาวนาน บริเวณมืดคล้ำเต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาต ขรุขระและแอ่งลึก ในขณะที่พื้นที่ใหม่เป็นบริเวณที่ราบเรียบ สว่างกว่า มีน้ำแข็งติดกับดินหิน โดยดวงจันทร์แกนีมีดถูกค้นพบโดยกาลิเลโอ กาลิเลอี เมื่อ 7 มกราคม 2153
นาซาได้ส่งยานจูโน จากศูนย์อวกาศของนาซาที่แหลมคะแนเวอรัล ในปี 2554 และใช้เวลาเดินทางถึง 5 ปี จึงไปถึงจุดหมายดาวพฤหัสฯ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2559โดยนาซามีจุดมุ่งหมายในการส่งยานจูโนไปดาวพฤหัสฯ เพื่อสำรวจเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วง สนามแม่เหล็ก และองค์ประกอบของดาวพฤหัสฯ เพื่อนำมาศึกษาว่าดาวพฤหัสฯก่อตัวขึ้นอย่างไร และมีวิวัฒนาการอย่างไร.
...