องค์การนาซาได้ทำการส่งยานแฝดเกรล ไปสำรวจดวงจันทร์ เพื่อการจัดทำแผนที่โครงสร้างภายใน ของดาวบริวารของโลกดวงนี้เป็นครั้งแรก และคาดว่าจะเดินทางไปถึงในช่วงสิ้นปี...
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานวันที่ 11 ก.ย. ว่า องค์การบริหารหารบินและยานอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซา เปิดเผยว่า ได้ทำการปล่อยยานอวกาศแฝด 'เกรล' ไปกับจรวดที่ชื่อว่า 'เดลตา ทู' จากฐานปล่อยจรวดของกองทัพอากาศ ที่แหลมคานาเวรัล รัฐฟลอริดา เมื่อเวลา 9.08 น. วันเสาร์ (ตามเวลาท้องถิ่น) โดยส่งไปสำรวจและจัดทำแผนที่ส่วนแกนชั้นในของดวงจันทร์เป็นครั้งแรก
นายจอร์จ ดิลเลอร์ นักวิเคราะห์ของนาซาคาดว่า ยานอวกาศทั้งสองลำจะใช้เวลาเดินทางสู่ดวงจันทร์ประมาณ 3 เดือน และจะเดินทางถึงขั้วของดวงจันทร์ในช่วงวันขึ้นปีใหม่ และเมื่อถึงแล้ว ยานทั้งสองจะลอยอยู่ห่างจากพื้นผิวของดวงจันทร์ราว 55 กม. และมีระยะห่างจากกันราว 60-225 กม. โดยจะใช้เวลาทำภารกิจประมาณ 40 วัน
แผนการในครั้งนี้คือ จะให้ยานทั้งสองใช้อุปกรณ์แรงโน้มถ่วง สำรวจและทำแผนที่ภายในของดวงจันทร์ และจะทำให้รู้ถึงสิ่งที่อยู่ภายในดวงจันทร์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์โลกยังมีความรู้ในส่วนนี้น้อยมาก และอาจทำให้รู้ไปถึงพื้นที่ส่วนไกล หรือ 'ด้านมืด' ของดวงจันทร์ ที่ยังไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน ซึ่งอาจตอบคำถามของเหล่านักวิทยาศาสตร์ได้ว่า ครั้งหนึ่งโลกเคยมีดวงจันทร์สองดวง แต่อีกดวงได้ชนและรวมตัวกันเป็นดวงจันทร์ในปัจจุบันแล้วหรือไม่
ด้านนายบ๊อบบี โฟเกล นักวิทยาศาสตร์ของนาซา กล่าวว่า ภารกิจของยานแฝดเกรล ถือเป็นภารกิจแรก ที่เป็นการสำรวจโครงสร้างภายในของดวงจันทร์อย่างจริงจัง
นักวิทยาศาสตร์เชื่อมาตลอดว่า ดวงจันทร์เกิดจากการที่วัตถุขนาดเทียบเท่าดาวเคราะห์พุ่งชนโลกในช่วงที่กำลังก่อตัวใหม่ๆ ทำให้เนื้อบางส่วนของโลกที่ยังคงร้อนอยู่กระเด็นออกไป และก่อตัวเป็นดวงจันทร์ แต่ทฤษฎีนี้ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมดวงจันทร์ถึงยังคงร้อนอยู่ และทำไมถึงมีทะเลแม็กมา ซึ่งต่อมาได้แข็งตัวเป็นคริสตัล แต่ในภารกิจสำรวจดวงจันทร์ในครั้งนี้ จะทำการทดสอบเพื่อหาคำอธิบายในเรื่องพวกนี้ทั้งหมด
อนึ่ง นาซาใช้งบประมาณไปถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ในการสร้างยานเกรลทั้งสอง และภายในเดือนพฤศจิกายน นาซาจะทำการส่งยานสำรวจไปยังดาวอังคาร ซึ่งคาดว่า จะใช้เวลาเดินทางราวสองปี
...