สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้จัดแสดงนิทรรศการเพื่อผู้ลี้ภัย เนื่องในโอกาสก่อตั้งครบรอบ 70 ปี ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

แสดงให้เห็นถึงภารกิจอันยิ่งใหญ่ อันแสนจะยากลำบาก เพราะจนถึงปัจจุบันนี้ สถานการณ์อันเลวร้ายก็ยังอยู่คู่กับมวลมนุษยชาติ โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกเพิ่มสูงเกือบสองเท่า ผู้คนเกือบ 80 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย ซึ่งในมุมหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า การอยู่ดีมีสุขนั้นเป็นเรื่องที่โชคดีมากเพียงใด

โดยทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สำนักงานยูเอ็นเอชซีอาร์ ถูกจัดตั้งเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2493 โดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ก่อนออกอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยในปี 2494 ที่ได้รับสัตยาบันจากรัฐภาคีทั้งสิ้น 146 รัฐ กำหนดนิยามคำว่าผู้ลี้ภัย และสิทธิผู้พลัดถิ่น ตลอดจนพันธกรณีการคุ้มครองคนเหล่านี้

หน่วยงานจะทำหน้าที่เสมือน “ผู้พิทักษ์” ของอนุสัญญาฯ โดยให้รัฐภาคีมีพันธกรณีในการให้ความร่วมมือกับยูเอ็นเอชซีอาร์ เพื่อให้แน่ใจว่าสิทธิของผู้ลี้ภัยจะได้รับความเคารพและคุ้มครอง ซึ่งไม่นานนัก หน่วยงานก็เจอบททดสอบครั้งใหญ่ในทันทีเมื่อปี 2499 เข้าช่วยเหลือผู้ลี้ภัยกว่า 200,000 คน ที่หลั่งไหลมาจากเหตุการณ์ปราบปรามในการปฏิวัติฮังการี ตามด้วยปี 2510 การปลดปล่อยอาณานิคมในทวีปแอฟริกา ช่วงพีกของสงครามเย็น

จากเหตุการณ์ได้ตอกย้ำว่านิยามของผู้ลี้ภัย ไม่สามารถจำกัดอยู่แค่บุคคลที่หลบหนีจากสงครามในยุโรปอีกต่อไป และนำไปสู่การขยายขอบเขตของนิยาม พร้อมจัดตั้งระบบการคุ้มครองผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศขึ้นมา

สำหรับประเทศไทย เริ่มทำงานกับยูเอ็นเอชซีอาร์ในช่วงปี 2518 หลังกรุงไซง่อนแตกในช่วงสงครามเวียดนาม โดยเริ่มเข้ามาดำเนินการในไทยตามคำเชิญของรัฐบาลยุคนั้น เนื่องจากเป็นชายแดนแรกของผู้ขอลี้ภัยจากกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ที่มีมากกว่า 1.3 ล้านคน มอบความคุ้มครองระหว่างประเทศ หาทางออกที่ยั่งยืนเพื่อการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม และเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยให้สามารถเดินทางกลับมาตุภูมิโดยสมัครใจ

...

ในยุคที่ยังไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเฉกเช่นปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องน่ายกย่องที่คณะกรรมการรางวัลอันทรงเกียรติ “โนเบล” ได้มอบรางวัล “สาขาสันติภาพ” แก่ UNHCR ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกปี 2497 จากผลงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในยุโรป และปี 2524 ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การทำงานอุทิศตัวของหน่วยงานยังไม่หมดเพียงแค่นี้ ไว้พรุ่งนี้มาว่ากันต่อครับผม.

ตุ๊ ปากเกร็ด