• "อาหรับสปริง" เป็นกระแสคลื่นการปฏิวัติที่ลุกลามเป็นโดมิโนในโลกอาหรับ และแอฟริกาเหนือ เริ่มต้นที่ตูนิเซีย เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2553 จนถึงปัจจุบัน มีผู้นำประเทศต่างๆ ถูกโค่นลงจากอำนาจ ตั้งแต่ตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย และเยเมน ประชาชนลุกฮือ ในอัลจีเรีย อิรัก จอร์แดน คูเวต โมร็อกโก และซูดาน และการประท้วงย่อยเกิดขึ้นในเลบานอน มอริเตเนีย โอมาน และซาอุดีอาระเบีย 
  • ข้อเรียกร้องของการชุมนุมประท้วงในแต่ละประเทศ เป็นการประท้วงขับไล่ผู้นำ และการผูกขาดอำนาจอย่างยาวนานในระบอบการเมือง การปฏิรูปการเมือง เรียกร้องการมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิเสรีภาพ และปัญหาเศรษฐกิจ ขณะที่ 10 ปีผ่านไป หลายประเทศยังหนีไม่พ้นจากภาวะเดิมๆ
  • ผลกระทบจากอาหรับสปริง ยังทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองแนวทางอิสลาม กลับมาแข็งแกร่ง กลุ่มอิสลามมีบทบาทการเมืองแข็งแกร่งมากขึ้นในหลายประเทศ 

ตูนิเซียจุดไฟแห่งความหวัง

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2553 นายโมฮาเหม็ด โบอาซีซี พ่อค้าขายผักผลไม้ในตลาดของเมืองซิดี บูซิด จุดไฟเผาตัวเองเพื่อประท้วงที่ถูกตำรวจใช้อำนาจข่มเหง เขาเสียชีวิตใน 2 สัปดาห์ต่อมา ข่าวชะตากรรมของนายโบอาซีซี ทำให้ชาวตูนิเซียตระหนักว่า ประชาชนไม่ควรเกรงกลัวต่ออำนาจรัฐ ประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วงในหลายเมือง เพื่อต่อต้านความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในรัฐบาลของประธานาธิบดีซิเน เอล อะบิดีน เบน อาลี ที่ปกครองประเทศมายาวนานกว่า 23 ปี  

...

หลังจากที่ประชาชนลุกฮือประท้วงได้เพียง 10 วัน ประธานาธิบดีเบน อาลี ก็ต้องพาครอบครัวหลบหนีออกนอกประเทศไปอยู่ที่ซาอุดีอาระเบีย กลายเป็นผู้นำชาติอาหรับรายแรกที่ถูกกระแสคลื่น "อาหรับสปริง" โค่นลงจากอำนาจ

การลุกฮือประท้วงในตูนิเซียทำให้มีประชาชนเสียชีวิตไปกว่า 300 ศพ กลายเป็นแรงบันดาลใจ เป็นการจุดไฟแห่งความหวังในหัวใจของเหล่าผู้โหยหาประชาธิปไตยในโลกอาหรับ ซึ่งในขณะนั้นหลายประเทศเต็มไปด้วยปัญหารัฐบาลคอร์รัปชัน ความไม่เท่าเทียมในสังคมชนชั้น และปัญหาปากท้อง ความยากจนหลังสงคราม

ทั่วโลกจับตามองการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในตูนีเซีย ประชาชนทวงคืนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการเลือกตั้งที่โปร่งใส ขณะที่ผ่านมา 10 ปีจนถึงวันนี้ ยังมีการคอร์รัปชันเป็นวงกว้างในรัฐบาลของประธานาธิบดีคาอิส ไซเอ็ด ที่เข้าบริหารประเทศเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว เศรษฐกิจของประเทศยังทรุดตัว ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 114,000 ราย เสียชีวิตแล้วกว่า 4,000 ศพ ตัวเลขคนว่างงานพุ่งมาอยู่ที่ 15% คนหนุ่มสาวยังรู้สึกว่าไม่ได้รับโอกาสทางสังคม

"จัตุรัสทาห์รีร์" รวมพลังมวลชนอียิปต์

ช่วงที่เกิดการปฏิวัติในตูนิเซีย ชาวอียิปต์ที่เอือมระอากับปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม พากันออกมาประท้วงเรียกร้องให้โค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีอียิปต์ ฮอสนี มูบารัค ที่ปกครองประเทศมายาวนานกว่า 30 ปี

การประท้วงใหญ่เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2554 มีประชาชนออกมาร่วมหลายหมื่นคน ทั้งในกรุงไคโร เมืองอเล็กซานเดรีย และอีกหลายเมือง โดยการประท้วงยืดเยื้อไปอีกนานหลายสัปดาห์ ที่จัตุรัสทาห์รีร์ ในกรุงไคโร มีผู้ออกมาชุมนุมประท้วงมากถึงกว่า 2 ล้านคน นับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่การจลาจลขนมปังในอียิปต์ เมื่อปี 2520 โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 846 ศพ บาดเจ็บกว่า 6,000 ราย หลังเผชิญกับการประท้วงและแรงกดดันประธานาธิบดีมูบารัค ได้ลาออกจากตำแหน่ง มอบอำนาจให้แก่สภาทหารสูงสุด

การประท้วงในอียิปต์เป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุด และนับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และหลังผ่านพ้นยุคของมูบารัค อียิปต์ก็ยังคงต้องออกมาประท้วงที่จัตุรัสทาห์รีร์อีกหลายรอบ เพื่อเรียกร้องให้ทหารส่งมอบอำนาจคืนแก่ประชาชน

จากนั้นเดือน มิ.ย.2555 นายโมฮัมหมัด มอร์ซี ผู้นำขบวนการภราดรภาพมุสลิมก็ขึ้นครองอำนาจแทน หลังชนะเลือกตั้งแบบเสรีครั้งแรก มอร์ซี กุมอำนาจท่ามกลางวิกฤติการเมืองรุมเร้าได้แค่ 1 ปี ก็ถูกคณะทหารนำโดยพลเอกอับเดล ฟัตตา อัล ซิซี ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ และอัล ซิซี ยังเป็นประธานาธิบดีจนถึงปัจจุบัน

...

ประท้วงสีเขียวเบ่งบานที่บาห์เรน

ผลพวงของ "อาหรับสปริง" ทำให้แก้วที่เกิดรอยร้าวระหว่างชนชั้นปกครองชาวสุหนี่ที่เป็นกลุ่มคนส่วนน้อย และประชาชนชาวบาห์เรนชาวชีอะห์คนส่วนใหญ่ ถึงคราวแตกสลาย วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ประชาชนหลายหมื่นคนออกมาเดินประท้วงตามท้องถนน โดยมีเป้าหมายให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล มีความต้องการให้กษัตริย์ฮาหมัด สละราชสมบัติ และเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่

การประท้วงที่บาห์เรนดำเนินไปแบบสีเขียว ไม่ใช้ความรุนแรงยาวนาน 1 เดือน ก่อนที่กษัตริย์ฮาหมัดจะสั่งใช้กำลังปราบปรามเฉียบขาด หลังพันธมิตรซาอุฯ และยูเออี ส่งกองทัพเข้าแทรกแซง ทรงสั่งยุบขบวนการฝ่ายค้าน ผู้นำฝ่ายค้านหลายคนถูกจำคุกยาว ปราบปรามอย่างจริงจัง มีการใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง เพื่อสลายการชุมนุม ในวันที่ 16 มี.ค.

จนถึงวันนี้บาห์เรน ยังคงเป็นประเทศยากจนที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มชาติร่ำรวยอ่าวเปอร์เซีย ยิ่งราคาน้ำมันตกลง รัฐบาลต้องหันไปพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว ล่าสุดตัวเลขคนว่างงานของบาห์เรนยังพุ่งสูงสุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ประชาชนยากจนมีถึง 11% 

...

ไฟสงครามที่ยากจะดับลงในซีเรีย 

ชาวซีเรียเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานที่สูงขึ้น ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน และการขาดเสรีภาพทางการเมืองมาอย่างยาวนาน ในรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2543 จนกระทั่งได้รับอิทธิพลมาจาก "อาหรับสปริง" ที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านหลายชาติ

รัฐบาลใช้กำลังทหารและใช้อาวุธเคมีปราบปรามผู้ประท้วงที่ออกมาชุมนุมในหลายเมืองทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องให้นายอัสซาดลาออกจากตำแหน่ง การลุกฮือในซีเรียมีความรุนแรงมากที่สุด ประชาชนเสียชีวิตไปกว่า 500,000 คน และนับว่าประธานาธิบดีอัสซาด เป็นผู้นำดวงแข็งที่สุด เพราะยังกุมอำนาจได้ถึงทุกวันนี้ แม้ว่าทุกวันนี้ซีเรียจะกลายเป็นสมรภูมิงัดข้อทางการระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ประชาชนหลายล้านคนต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย เดินทางอพยพออกนอกประเทศหนีความรุนแรง  

...

จุดจบเลวร้ายของ "กัดดาฟี" แห่งลิเบีย

เหตุความไม่สงบในลิเบีย ได้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 15 ก.พ.2554 ก่อนขยายตัวกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการลุกฮือขึ้นทั่วประเทศ และมีการก่อตั้ง "สภาถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติ" รัฐบาลของฝ่ายต่อต้านกัดดาฟีที่เมืองเบงกาซีเป้าหมายคือการโค่นล้มมูอัมมาร์ กัดดาฟี ที่กุมอำนาจมากว่า 42 ปี ลงจากตำแหน่ง และจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

ประธานาธิบดีกัดดาฟี เป็นผู้นำที่โดนพิษอาหรับสปริงเล่นงานอย่างเจ็บแสบที่สุด เขามีชะตากรรมเลวร้าย ถูกกลุ่มกบฏซึ่งมีกองกำลัง "นาโต" สนับสนุน จับตัวได้ และรุมฆ่าทิ้งอย่างโหดเหี้ยม เมื่อ 20 ต.ค. 2554 ขณะหนีออกจากเมืองเซิร์ตบ้านเกิด แต่นับจนถึงวันนี้ลิเบียยังคงถลำสู่กลียุค มีการแย่งชิงอำนาจทั้งในรัฐบาลและรัฐสภา ขณะที่กองกำลังหลายกลุ่มต่อสู้กันเองเพื่อแย่งชิงดินแดน และแหล่งน้ำมันมูลค่ามหาศาล

ระเบิดเวลาความขัดแย้งภายในเยเมน 

ชาวเยเมนลุกฮือประท้วงขับไล่ประธานาธิบดี อาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ ที่กุมอำนาจเผด็จการมา 33 ปี ตั้งแต่ปี 2521 หลังถูกลุกฮือขับไล่ประท้วงนองเลือด และการสู้รบยาวนาน 11 เดือน ผู้นำเยเมนถูกเหล่าผู้นำชาติอาหรับบีบให้สละอำนาจ เมื่อเดือน พ.ย.2554 

ต่อมาในเดือน ก.พ.2555 เยเมนจัดการเลือกตั้งใหม่ รองประธานาธิบดีอาเบดรับโบ มานซูร์ ฮาดี ในรัฐบาลของนายซาเลห์ ชนะได้เป็นประธานาธิบดี แต่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ล้มเหลว ความขัดแย้งระหว่างชาวสุหนี่ชนส่วนใหญ่ กับชาวชีอะห์ชนส่วนน้อยที่ถูกกดขี่มากขึ้น หลังนายซาเลห์สิ้นอำนาจก็ทวีขึ้น

ขณะที่ทหารชั้นหัวกะทิบางหน่วยในกองทัพยังจงรักภักดีต่อซาเลห์ เมื่อกบฏชาวชีอะห์บุกเข้ากรุงซานาในเดือน ก.ย.2557 หน่วยทหารที่จงรักภักดีต่อซาเลห์จึงนิ่งเฉยไม่ต่อต้าน ซาเลห์ยังไปจับมือกับกบฏฮูตีสู้กับรัฐบาลฮาดี ซึ่งมีกองกำลังพันธมิตรนำโดยซาอุดีอาระเบียหนุนหลัง และกบฏยังยึดกรุงซานา ที่ราบสูงภาคเหนือ และริมฝั่งทะเลแดงได้ในขณะนี้

ข้อมูลของโครงการอาหารโลก ระบุว่า ชาวเยเมนกำลังประสบความอดอยากถึง 8.4 ล้านคน โดยรวมประมาณร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด 29.3 ล้านคน ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ขาดความมั่นคงทางอาหาร.

ผู้เขียน : เมาคลีล่าข่าว

ที่มา  : Aljazeera, Wikipedia, NBC