• วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ร่วมกับไบออนเทค สร้างประวัติศาสตร์เป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้กับประชาชนเป็นวงกว้างในสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกของโลก
  • รู้จักการทำงานของวัคซีนไฟเซอร์ ขณะที่รัฐบาลหลายชาติยังกล้าๆ กลัวๆ เพราะถือเป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA และได้รับอนุมัติให้ใช้กับคนเป็นครั้งแรก 
  • FDA ในสหรัฐฯ ‘ไฟเขียว’ อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์เป็นกรณีฉุกเฉิน ขณะที่บริษัทไฟเซอร์ขอให้มั่นใจ ‘วิทยาศาสตร์จะชนะ’โควิด-19

สหราชอาณาจักรอนุมัติใช้วัคซีนไฟเซอร์ชาติแรก

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ถือเป็นหนึ่งในความหวังของมวลมนุษยชาติในเวลานี้ ที่จะสามารถต่อกรปราบปรามเชื้อไวรัสมรณะ ‘โควิด-19’ หลังจากระบาดใหญ่ข้ามปี คร่าชีวิตผู้คนแล้วกว่า 1.5 ล้านศพ และยอดสะสมผู้ติดเชื้อทะลุ 70 ล้านรายไปเรียบร้อย เมื่อถึง ณ วันที่ 11 ธ.ค. 63

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่คิดค้นพัฒนาโดยบริษัท Pfizer (ไฟเซอร์) ในสหรัฐฯ ร่วมกับบริษัท BioNtech (ไบออนเทค) ในเยอรมนี ซึ่งใช้ชื่อว่า BNT162b2 กลายเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดแรกของโลก ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้กับประชาชนเป็นวงกว้างเมื่อต้นเดือน ธ.ค. 63 หลังจากข้อมูลของบริษัทไฟเซอร์แจ้งถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในการทดสอบเฟสที่ 3 สามารถป้องกันติดเชื้อโควิด-19 สูงกว่า 90 % ถึงแม้การทดสอบวัคซีนไฟเซอร์ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม

คุณยายมาร์กาเร็ต คีแนน วัย 90 เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทค ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในเมืองโคเวนทรี ทางตอนกลางของอังกฤษ เมื่อ 8ธ.ค.63 จนถือเป็นบุคคลที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นคนแรกของโลก

...

หน่วยงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหราชอาณาจักรถือเป็นชาติแรกของโลกที่อนุมัติวัคซีนไฟเซอร์เมื่อต้นเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา และเริ่มฉีดให้กับคนกลุ่มเสี่ยงกลุ่มแรก จากนั้น แคนาดา ได้เป็นชาติที่ 2 ของโลกที่อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์

วัคซีนเทคโนฯ mRNA ชนิดแรกได้รับอนุมัติให้ใช้กับคน

วัคซีนไฟเซอร์ เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ คือเทคโนโลยี RNA (อาร์เอ็นเอ) ซึ่งผลิตจากชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส และที่ผ่านมาไม่เคยมีวัคซีนอาร์เอ็นเอที่ได้การรับรองให้ใช้ในคนมาก่อน

ด้วยเหตุนี้ วัคซีนของไฟเซอร์ร่วมกับไบออนเทค จึงเป็นวัคซีนอาร์เอ็นเอชนิดแรกที่นำมาใช้กับคนในการป้องกันเชื้อโควิด-19 

เมื่อถูกฉีดเข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของผู้รับวัคซีน สร้างแอนติบอดีที่ใช้ต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 ได้ และมีข้อกำหนดคือต้องฉีดวัคซีนจำนวน 2 โดส หรือ 2 เข็ม ในระยะเวลาห่างกัน 3 สัปดาห์ หรือ 21 วัน

กล่องสำหรับเก็บวัคซีนโควิด-19ของไฟเซอร์ จะต้องเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส

ทำไมต้องเก็บวัคซีนในระดับอุณหภูมิ-70 องศาเซลเซียส

และด้วยการใช้เทคโนโลยี อาร์เอ็นเอ ในการนำชิ้นส่วนของรหัสพันธุกรรมเข้าสู่ร่างกายของเรา ทำให้ mRNA มีความเปราะบางมาก และอาจถูกหั่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยโดยเอ็นไซม์ในร่างกายของมนุษย์ หากมีการฉีด mRNA เข้าสู่ร่างกายโดยตรง ด้วยเหตุนี้บริษัทไฟเซอร์และไบออนเทคจึงได้ใช้วิธีหุ้ม mRNA ด้วยฟองไขมันที่ทำด้วย Lipid nanoparticles

อีกทั้งด้วยความเปราะบางของฟองไขมันที่ข้างในมีชิ้นส่วนรหัสพันธุกรรมในการสร้างโปรตีนหนาม ซึ่งจะแตกเป็นเสี่ยงๆ หากอยู่ในอุณหภูมิห้อง ไฟเซอร์จึงได้สร้างกล่องพิเศษที่สามารถใส่น้ำแข็งแห้ง ติดตั้งเซนเซอร์วัดอุณหภูมิ และระบบติดตามด้วย GPS เพื่อมั่นใจว่าวัคซีนนี้จะถูกขนส่งในอุณหภูมิ-70 องศาเซลเซียส เพื่อให้ฟองไขมันที่ข้างในมีชิ้นส่วนของรหัสพันธุกรรมยังคงอยู่ได้

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษติดตามดูการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ให้กับคนกลุ่มแรก หลังจากได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพในสหราชอาณาจักรให้สามารถใช้ได้กับประชาชนเป็นวงกว้าง

...

ขั้นตอนการทำงานของวัคซีนอาร์เอ็นเอ

1. ชิ้นส่วนของรหัสพันธุกรรม เรียกว่า mRNA จะมีคำสั่งให้เซลล์พร้อมจะสร้างโปรตีนส่วนที่เป็นหนามของไวรัสโควิด-19

2. เมื่อ mRNA เข้าสู่เซลล์มนุษย์แล้ว จะกระตุ้นให้เซลล์มนุษย์สร้างโปรตีนส่วนที่เป็นหนามไวรัส

3. โปรตีนส่วนที่เป็นหนามของไวรัส จะลอยอยู่ในกระแสเลือดของมนุษย์ และจะกระตุ้นให้มนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันออกมา เพราะเข้าใจว่าเป็นไวรัสโควิด-19 จริงๆ เมื่อมีภูมิคุ้มกันแล้ว ก็จะสามารถป้องกันโรคโควิดได้ เนื่องจากจะไปจับกับส่วนหนามของโควิด-19 ไม่ให้มาจับกับเซลล์ร่างกายมนุษย์

...

FDA ในสหรัฐฯอนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ในกรณีฉุกเฉินแล้ว

หลังจากมีผู้เสียชีวิตด้วยโควิด-19 ในสหรัฐฯเพิ่มสูงกว่าวันละ 3,000 ศพ ทำให้ในที่สุด สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ตัดสินใจอนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิด-19 เป็นกรณีฉุกเฉิน เมื่อ 11 พ.ย.63 โดย FDA ถือว่าวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงถึง 95% ส่วนกรณีที่มีผู้ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ในอังกฤษเกิดอาการแพ้นั้น ยังเป็นเพียงกลุ่มน้อย

FDA ยังระบุด้วยว่า การอนุมัติครั้งนี้เป็นหลักชัยสำคัญในการสู้กับการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่คร่าชีวิตชาวอเมริกันแล้วกว่า 295,000 ศพ

...

เชื่อมั่น ‘วิทยาศาสตร์จะชนะ’

บริษัทไฟเซอร์แจ้งผ่านทวิตเตอร์ เชื่อมั่น วิทยาศาสตร์จะชนะ พร้อมกับเผยแพร่คลิปวิดีโอมีข้อความว่า วัคซีนไฟเซอร์ได้มีการทดสอบกับอาสาสมัครที่มีความมั่นใจในวิทยาศาสตร์ จำนวน 44,392 คน ใน 6 ประเทศ รวมทั้ง 39 รัฐในสหรัฐอเมริกา โดยหลังจากได้ทุ่มเททำงานอย่างหนักหลายร้อยวันและหลายพันชั่วโมงเพื่อคิดค้นพัฒนาวัคซีน ในที่สุดเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.63 สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ได้อนุมัติวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทค เป็นกรณีฉุกเฉิน

บริษัทไฟเซอร์ ชี้ว่า นี่คือช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ และขอขอบคุณในความพยายามอย่างมากมาย เพราะพวกเราเชื่อ ‘วิทยาศาสตร์จะชนะ’.

ผู้เขียน : เวนิส

ที่มา : nytimes, BBC,