สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทยเชิญ ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย พูด “พลิกวิกฤติโควิด-19 ทำอย่างไรให้เป็นโอกาสสำหรับองค์กรปกรองส่วนท้องถิ่น” ศุกร์ 27 พฤศจิกายน 2563 เวลา 09.00-12.00 น. ที่โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน + วิกฤติโควิด-19 + วิกฤติฮ่องกง ทำให้จีนมุ่งนโยบายการบริโภคภายใน รวมทั้งพยายามลดอัตราส่วนการพึ่งพาการส่งออกต่อจีดีพีให้ต่ำกว่าร้อยละ 30 เพราะถ้าสูงกว่านี้จะเป็นเหตุให้จีนประสบปัญหาเมื่อการค้านอกประเทศเผชิญวิกฤติ

สมัยโอบามาเป็นประธานาธิบดี สหรัฐฯกระตือรือร้นเข้าร่วม ‘ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก’ หรือ TPP ซึ่งในยุคของโอบามามีการกีดกันจีนในการเข้าร่วม TPP ทว่าพอมายุคทรัมป์ ทรัมป์เตะ TPP ทิ้ง เพราะทรัมป์ต่อต้านการค้าลักษณะพหุภาคี ทำให้ 11 ประเทศที่เหลือต้องประคองความตกลงฯนี้ต่อและเปลี่ยนชื่อจาก TPP ไปเป็น CPTPP หรือ ‘ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก’

สิ่งที่ทำให้กับพวกเราที่สนใจการเมืองระหว่างประเทศแปลกใจก็คือ การปราศรัยของสีจิ้นผิงเมื่อศุกร์ 20 พฤศจิกายน 2563 ในที่ประชุมซัมมิตของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ว่า “จีนจะพิจารณาอย่างกระตือรือร้นในการเข้า CPTPP”

...

สหรัฐฯเคยกลัวจีนเรื่อง RCEP หรือ Regional Comprehensive Partnership Agreement ที่แปลเป็นไทยว่า ‘ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค’ ซึ่งมีสมาชิกเป็นกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศและ 5 ชาติคู่เจรจาคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย

ก่อนหน้านี้ มีมือไม้ของสหรัฐฯในกลุ่มอาเซียนเลื่อนการร่วมลงนามรับรอง RCEP ในการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ตอนนั้นผมทราบว่า ฝ่ายจีนไม่สบายใจ แต่ตอนนี้ จีนยิ้มกว้างจนปากฉีกถึงใบหูแล้วครับ เพราะเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2563 ผู้นำกลุ่มอาเซียนและ 5 ชาติคู่เจรจาร่วมลงนามรับรองความตกลงฯ ในช่วงท้ายของการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งที่ 37 ที่กรุงฮานอย เวียดนาม

การลงนามครั้งนี้ทำให้จีนเป็นมังกรติดปีก เพราะความตกลงฯนี้ครอบคลุมผู้บริโภคมากถึง 2.2 พันล้านคน คิดเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีประมาณร้อยละ 30 ของโลก

หลายท่านสงสัยว่าเมื่อทั้ง 15 ประเทศลงนามรับรองความตกลงฯแล้ว ทั้ง 15 ประเทศจะลดมาตรการกีดกันทั้งทางด้านภาษีและด้านอื่นทันทีใช่หรือไม่ ขอตอบว่า ยังไม่ใช่ครับ เพราะความตกลงฯฉบับนี้ ยังต้องไปผ่าน ‘การรับรองให้สัตยาบัน’ จากรัฐสภาของแต่ละประเทศก่อนจะมีผลบังคับใช้ ถ้าถามเรื่องเวลา ผมว่าก็ต้องมีอีกอย่างน้อย 1 ปีนั่นละครับ

ฐานะที่เราเป็นประเทศที่เป็นสมาชิก RCEP ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาลและประชาชนคนไทยจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในรายละเอียดและข้อดี-ข้อเสียของ RCEP ไม่ใช่รู้แต่พวกบริษัทใหญ่ซึ่งได้ประโยชน์จากการที่ส่งสินค้าไปขายใน 15 ประเทศด้วยภาษีศุลกากรที่ลดลงไปได้มากถึงร้อยละ 90 ภายในระยะเวลา 20 ปี

ผมมีความเชื่อว่าถ้ารัฐบาลไทยเร่งส่งเสริมให้ประชาชนรู้จัก RCEP ทุกแง่ทุกมุม RCEP ก็จะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบในด้านเศรษฐกิจลงไปได้บ้าง RCEP จะช่วยให้การค้าเจริญเติบโตอย่างคาดไม่ถึง ที่น่าเสียดายก็คืออินเดีย เพราะก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินว่า RCEP มีสมาชิก 16 ประเทศคือ ASEAN+6 มีอินเดียอยู่ด้วย ทว่าน่าเสียดายที่เดิมอินเดียกระตือรือร้นในการร่วมเจรจา RCEP มาก แต่ตอนหลังถอนตัวออกไป เพราะอินเดียขี้หดตดหายกลัวสินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาตีสินค้าอินเดีย ทำให้ RCEP มีประชากร (ของอินเดีย) ลดลงไปมากกว่า 1 พันล้านคน

RCEP มีสมาชิก 15 ประเทศ CPTPP มีสมาชิก 11 ประเทศ ที่น่าสนใจคือ มีสมาชิก CPTPP 7 ประเทศที่ร่วม RCEP อยู่ด้วย ถ้าถามผมว่ากลุ่มไหนให้ประโยชน์มากกว่า ผมขอตอบว่า RCEP ครับ เพราะ RCEP เน้นไปที่ตัดลดอัตราภาษีศุลกากรและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงตลาด

เอ้อ จีนจะเข้า CPTPP

อ้า รัฐบาลไทยว่ายังไงครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com 

...