• นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเร่งพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่งกำลังแพร่กระจายไปทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 56 ล้าน เสียชีวิตกว่า 1.3 ล้านศพ

  • ปัจจุบัน มีวัคซีนอย่างน้อย 13 รุ่นแล้ว ที่กำลังเข้าสู่การทดสอบขั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นความหวังในการยุติการระบาดของไวรัสมรณะชนิดนี้

  • ตอนนี้มีวัคซีนอย่างน้อย 6 รุ่นที่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานได้อย่างจำกัดในบางประกาศ สำหรับบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่สำคัญ และเสี่ยงต่อการสัมผัสกับไวรัสมากกว่าคนอื่นๆ



การผลิตวัคซีนต้านไวรัสหรือแบคทีเรียขึ้นมาสักชนิดหนึ่ง ตามปกติแล้วต้องใช้เวลาวิจัยและทดสอบนานหลายปี ก่อนจะไปถึงขั้นการทดสอบใช้จริง แต่ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังพยายามทำสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อผลิตวัคซีนต้านทานไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยให้ได้ภายใน ปีหน้า หรือราว 2 ปี หลังจากไวรัสมรณะตัวนี้เริ่มระบาดไปทั่วโลก ซึ่งทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่า 56 ล้านคน และเสียชีวิตแล้วกว่า 1.3 ล้านศพในตอนนี้

การพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ เริ่มขึ้นมาตั้งแต่เดือนมกราคม และการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ครั้งแรกเริ่มขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม โดยจนถึงตอนนี้นักวิจัยของบริษัทยาและสถาบันสาธารณสุขทั่วโลก กำลังดำเนินการทดสอบวัคซีนโควิด 54 รุ่นในมนุษย์ และอีก 87 รุ่นในสัตว์ แต่มีวัคซีน 13 รุ่นที่กำลังเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการทดสอบเฟส 3 และเป็นความหวังในการยุติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งบริษัทที่ผลิตวัคซีนเหล่านั้นได้แก่



...

โมเดอร์นา กับ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) 

กำลังทดสอบ : เฟส 3


บริษัท โมเดอร์นา ของสหรัฐฯ กำลังพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 โดยใช้กรดไรโบนิวคลีอิก (RNA) เป็นฐาน เพื่อสร้างโปรตีนไวรัสในร่างกายผู้รับเพื่อกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกัน เริ่มต้นพัฒนาตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ และเป็นหุ้นส่วนกับ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH)

หลังจาการทดสอบเบื้องต้น พบว่า วัคซีนซึ่งมีชื่อในการทดสอบว่า mRNA-1273 สามารถป้องกันลิงจากไวรัสโคโรนาได้ พวกเขาก็เริ่มการทดลองในมนุษย์ในเดือนมีนาคม และเริ่มทดสอบเฟสที่ 3 กับอาสาสมัครกว่า 30,000 คนในวันที่ 27 ก.ค.

ล่าสุดเมื่อ 16 พ.ย. โมเดอร์นา ก็ประกาศข่าวดีว่า ผลวิเคราะห์การทดสอบเฟส 3 ขั้นต้นชี้ว่า วัคซีนของพวกเขามีประสิทธิภาพป้องกันไวรัสได้ถึง 94.5% รวมทั้งปกป้องผู้ติดเชื้อไม่ให้มีอาการป่วยรุนแรงได้ โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากอาสาสมัคร 95 รายที่ติดเชื้อโควิด-19 และตอนนี้โมเดอร์นากำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อสรุปขั้นสุดท้าย และมีแผนจะยื่นเรื่องขออนุญาตใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉินภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า




ไฟเซอร์ และ ไบโอเทค

กำลังทดสอบ : เฟส 2 ควบเฟส 3


ในเดือนพฤษภาคม บริษัท ไฟเซอร์ ของสหรัฐฯ กับบริษัท ไบโอเทค ของเยอรมนี ดำเนินการทดสอบวัคซีน RNA จำนวน 2 รุ่นในเฟสที่ 1 (มีอาสาสมัครหลักร้อย) และเฟสที่ 2 (มีอาสาสมัครหลักพัน) ไปพร้อมๆ กัน และพบว่าวัคซีนทั้ง 2 รุ่นทำให้อาสาสมัครสารภูมิคุ้มกันไวรัสโควิด-19 และเซลล์ภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า ที-เซลล์ ขึ้นมา แต่รุ่นที่มีชื่อว่า ‘BNT162b2’ มีผลข้างเคียงน้อยกว่า

จากนั้นในวันที่ 27 ก.ค. ไฟเซอร์ก็เริ่มการทดสอบควบเฟส 2 และเฟส 3 กับอาสาสมัคร 30,000 คนทั้งในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ เช่น อาร์เจนตินา, บราซิล และเยอรมนี ก่อนที่ในเดือนกันยายน พวกเขาจะประกาศเพิ่มจำนวนอาสาสมัครในสหรัฐฯ เป็น 43,000 คน และได้รับอนุญาตให้ทดสอบวัคซีนในเด็กอายุไม่ต่ำกว่า 12 ปีได้เป็นครั้งแรกในสหรัฐฯ

ในวันที่ 8 พ.ย. ไฟเซอร์ กับ ไบโอเทค ก็สร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการเผยผลการทดสอบเฟส 3 เบื้องต้นชี้ว่า วัคซีนของพวกเขามีประสิทธิภาพป้องกันไวรัสมากกว่า 90% ซึ่งเป็นวัคซีนตัวแรกที่ทำได้ ก่อนที่พวกเขาจะเผยผลวิเคราะห์การทดสอบขั้นสุดท้ายเมื่อ 18 พ.ย. ว่า วัคซีนของพวกเขามีประสิทธิภาพสูงถึง 95% เมื่อวิเคราะห์จากอาสาสมัครที่ติดเชื้อ 170 ราย และมีผลดีในทุกช่วงอายุ ร่วมทั้งมีผลข้างเคียงน้อยมากด้วย

ไฟเซอร์คาดการณ์ว่า พวกเขาจะสามารถผลิตวัคซีนได้มากที่สุด 50 ล้านโดสภายในปีนี้ และผลิตได้สูงสุด 1.3 พันล้านโดสภายในปี 2564 แต่วัคซีนจาก RNA ไม่ว่าจะของไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา จำเป็นต้องเก็บในอุณหภูมิเย็นจัด -70 องศาเซลเซียส ซึ่งตู้แช่แข็งมาตรฐานทำความเย็นระดับนี้ไม่ได้ ไฟเซอร์จึงกำลังพัฒนากล่องเก็บพิเศษขึ้นมาเพื่อการขนส่ง


...

แคนซีโน ไบโอ

กำลังทดสอบ : เฟส 3 / อนุมัติใช้อย่างจำกัดในจีน


บริษัท แคนซีโน ไบโอโลจิกส์ ของจีน กำลังพัฒนาวัคซีนโดยใช้อะดีโนไวรัส รูปแบบที่ 5 หรือ ‘Ad5’ โดยเป็นหุ้นส่วนกับสถาบันชีววิทยาของ สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์กองทัพของจีน โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม พวกเขาเปิดเผยว่า ผลการทดสอบความปลอดภัยในเฟสที่ 1 ออกมาดูดีมีอนาคต จากนั้นในเดือนกรกฎาคม แคนซีโน ก็พบว่า วัคซีนของพวกเขาสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงแก่อาสาสมัครในการทดสอบเฟสที่ 2

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. กองทัพจีนมีคำสั่งอนุมัติการใช้วัคซีนของ แคนซีโน เป็นเวลา 1 ปี โดยอ้างเหตุผลว่า มีความต้องการยาเป็นพิเศษ ขณะที่ แคนซีโน ไม่ได้เปิดเผยว่า การฉีดวัคซีนเป็นคำสั่งที่ทหารทุกคนต้องปฏิบัติตาม หรือเป็นทางเลือก จากนั้นในเดือนสิงหาคม แคนซีโนก็เริ่มการทดสอบเฟส 3 ในหลายประเทศรวมถึง ซาอุดีอาระเบีย ปากีสถาน และรัสเซีย


วัคซีน 'สปุตนิก วี' ของรัสเซีย
วัคซีน 'สปุตนิก วี' ของรัสเซีย

...

สถาบันวิจัย กามาเลยา

กำลังทดสอบ: เฟส 3 / อนุมัติใช้อย่างจำกัดในรัสเซีย


สถาบันวิจัย กามาเลยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขรัสเซีย เริ่มการทดสอบวัคซีนทางคลินิกเมื่อเดือนมิถุนายน โดยวัคซีนของพวกเขา ซึ่งมีชื่อในการทดสอบว่า ‘Gam-Covid-Vac’ พัฒนาจากการรวมอะดีโนไวรัส 2 รูปแบบคือ Ad5 กับ Ad26 เข้าด้วยกัน

ในวันที่ 11 ส.ค. ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ทำเรื่องช็อกโลก ด้วยการประกาศว่า หน่วยงานตรวจสอบด้านสาธารณสุขของประเทศ อนุมัติการใช้วัคซีนตัวนี้แล้ว โดยเปลี่ยนชื่อเป็น ‘สปุตนิค วี’ (Sputnik V) โดยที่การทดสอบเฟส 3 ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อยืนยันความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนยังไม่เริ่มขึ้นด้วยซ้ำ เรียกเสียงครหาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขทั่วโลก จนรัสเซียต้องกลับลำ บอกว่าเป็นแค่การรับรองอย่างมีเงื่อนไข ขึ้นอยู่กับผลการทดสอบเฟส 3 เท่านั้น

เดือนเดียวกัน รัสเซียประกาศเพิ่มจำนวนอาสาสมัครทดสอบวัคซีนจากแค่ 2,000 คน เป็น 40,000 คนทั้งในรัสเซีย, เบลารุส, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ เวเนซุเอลา จากนั้นวันที่ 4 ก.ย. หรือราว 3 สัปดาห์หลังจากนายปูตินประกาศอนุมัติใช้วัคซีน กามาเลยา ก็เผยผลการทดสอบเฟสที่ 1 ควบ 2 ซึ่งมีอาสาสมัครจำนวนน้อย โดยพบว่า สปุตนิคสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสโคโรนาได้ และมีผลข้างเคียงน้อย

รัสเซียเริ่มการทดสอบเฟส 2 ควบ 3 ในวันที่ 17 ต.ค. ในประเทศอินเดีย หลังจากนั้นไม่ถึง 1 เดือน พวกเขาก็ประกาศผลเบื้องต้นจากการทดสอบเฟสที่ 3 ระบุว่า สปุตนิก มีประสิทธิภาพป้องกันไวรัสโคโรนาถึง 92% โดยผู้เชี่ยวชาญต่างชาติระบุว่า อาจเป็นจริง แต่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลผู้ป่วยมากกว่านี้ เพราะตัวเลขดังกล่าววิเคราะห์จากอาสาสมัครที่ติดเชื้อเพียง 20 คนเท่านั้น


...

จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน กับ ศูนย์การแพทย์ เบธ อิสราเอล ดีคอนเนส

กำลังทดสอบ : เฟส 3


จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน บริษัทยาชื่อดังของสหรัฐฯ กับ ศูนย์การแพทย์ เบธ อิสราเอล ดีคอนเนส ซึ่งเป็นทั้งศูนย์วิจัยและสถาบันการศึกษาของโรงเรียนแพทย์ ฮาร์วาร์ด กำลังร่วมมือกันพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 จากอะดีโนไวรัสรูปแบบที่ 26 หรือ Ad26 ซึ่งเคยถูกใช้เพื่อสร้างวัคซีนโรคอีโบลาและโรคอื่นๆ มาแล้ว

จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ 456 ล้านดอลลาร์ หลังจากการทดลองในลิงประสบความสำเร็จ พวกเขาก็เริ่มการทดสอบเฟส 1 ควบ 2 ในเดือนกรกฎาคม และเริ่มทดสอบเฟส 3 ในเดือนกันยายน มีอาสาสมัครถึง 60,000 คน แต่ต่างจากการทดสอบเฟส 3 ของเจ้าอื่นๆ ตรงที่ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ให้วัคซีนแก่อาสาสมัครเพียง 1 โดส แทนที่จะเป็น 2 โดส

จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ต้องประกาศระงับการทดสอบชั่วคราวในวันที่ 12 ต.ค. หลังจากเกิดผลกระทบกับอาสาสมัคร ก่อนจะดำเนินการทดสอบต่อได้ใน 11 วันต่อมา ซึ่งทางจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน คาดว่า พวกเขาจะได้ผลวิเคราะห์ขั้นสุดท้ายจากเฟส 3 ภายในสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ตาม จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เพิ่งประกาศเมื่อ 16 พ.ย. ที่ผ่านมา ว่า พวกเขาจะจัดการทดสอบวัคซีนเฟส 3 กลุ่มที่ 2 เพื่อสังเกตการประสิทธิภาพของการให้วัคซีนแก่ผู้สมัคร 2 โดสด้วย ทำให้ตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่า พวกเขาจะได้ผลลัพธ์สุดท้ายเมื่อใด


แอสตราเซเนกา กับ มหาวิทยาลัย ออกซ์ฟอร์ด

กำลังทดสอบ : เฟส 2 ควบเฟส 3


บริษัทยาสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ‘แอสตราเซเนกา’ กับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด จับมือกันพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 โดยใช้อะดีโนไวรัสจากลิงชิมแปนซี ซึ่งเรียกว่า ChAdOx1 เป็นฐาน ซึ่งการทดสอบเบื้องต้นในลิง พบว่าวัคซีนสามารถปกป้องมันจากไวรัสได้

จากนั้นในการทดสอบเฟส 1 ควบ 2 แอสตราเซเนการะบุว่าไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรงใดๆ และพบด้วยว่าวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานไวรัสโคโรนาเช่นเดียวกับภูมิต้านทานอื่นๆ จากนั้น แอสตราเซเนกา ก็จัดการทดสอบเฟส 2 ควบ 3 ในอังกฤษและอินเดีย และจัดการทดสอบเฟส 3 ในบราซิล, แอฟริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา

แต่การทดสอบวัคซีนก็ไม่ได้ราบรื่นนัก แอสตราเซเนกาต้องระงับการทดสอบในวันที่ 6 ก.ย. หลังพบการอักเสบในอาสาสมัคร 1 ราย ซึ่งการทดสอบกลับมาดำเนินการได้อีกครั้งภายใน 1 สัปดาห์ในทุกประเทศยกเว้นสหรัฐฯ กระทั่ง 23 ต.ค. สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ ก็อนุญาตให้ แอสตราเซเนกา ทดสอบวัคซีนในสหรัฐฯ ได้อีกครั้ง

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ซีอีโอของแอสตราเซเนกาให้สัมภาษณ์กับสื่อ ระบุว่า บริษัทอาจได้ผลวิเคราะห์ขั้นสุดท้ายจากการทดสอบภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้


โนวาแวกซ์

กำลังทดสอบ : เฟส 3


บริษัทยาในรัฐแมรีแลนด์เจ้านี้ เริ่มการทดสอบวัคซีนต้านโควิด-19 ในเดือนพฤษภาคม โดยได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์ โดยหลังจากผลการทดสอบเบื้องต้นในลิงและในมนุษย์เฟส 1 ออกมาดูดี พวกเขาก็เริ่มทดสอบเฟส 2 ในประเทศแอฟริกาใต้ในเดือนสิงหาคม มีอาสาสมัคร 2,900 คน

เดือนต่อมา โนวาแวกซ์ เริ่มการทดสอบวัคซีนเฟส 3 โดยจัดในสหราชอาณาจักร มีอาสาสมัคร 15,000 คน และคาดว่าจะได้ผลลัพธ์ภายในต้นปี 2564 นอกจากนี้ พวกเขาจะเริ่มการทดสอบเฟส 3 กลุ่มที่ 2 กับอาสาสมัครจำนวนมากกว่าเดิมในสหรัฐฯ ในช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย

โนวาแวกซ์ คาดการณ์ว่า หากการทดสอบประสบความสำเร็จตามแผน พวกเขาจะสามารถจัดส่งวัคซีน 100 ล้านโดสสำหรับใช้ในสหรัฐฯ ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2564


เมดิคาโก กับ แกล็กโซสมิธไคลน์

กำลังทดสอบ : เฟส 2 ควบเฟส 3


เมดิคาโก บริษัทเทคโนโลยีชีววิทยาของแคนาดา กำลังพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธีที่แตกต่างจากที่อื่น ด้วยใบยาสูบ พวกเขาใช้วิธีใส่ยีนของไวรัสเข้าไปในใบยาสูบ ทำให้เซลล์ของใบไม้สร้างเปลือกโปรตีนคล้ายกับของไวรัสขึ้นมา

เมดิคาโก เริ่มการทดสอบวัคซีนเฟส 1 ในเดือนกรกฎาคม โดยใช้งานร่วมกับยาเสริมที่ผลิตโดยบริษัทยา แกล็กโซสมิธไคลน์ และพบว่า ช่วยสร้างสารภูมิคุ้มกันระดับที่น่าพอใจในตัวอาสาสมัคร จากนั้นในวันที่ 23 ต.ค. พวกเขาก็บรรลุสัญญาผลิตวัคซีนให้รัฐบาลแคนาดา 76 ล้านโดส และเริ่มการทดสอบเฟส 2 ควบ 3 ในวันที่ 12 พ.ย.


วัคซีนของบริษัท ซีโนฟาร์ม กำลังถูกทดสอบในต่างประเทศ
วัคซีนของบริษัท ซีโนฟาร์ม กำลังถูกทดสอบในต่างประเทศ

ซีโนฟาร์ม

กำลังทดสอบ : เฟส 3 / อนุมัติใช้อย่างจำกัดในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์


บริษัท ซีโนฟาร์ม ของรัฐบาลจีน กำลังดำเนินการทดสอบวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา ซึ่งผลิตจากไวรัสที่ตายแล้วถึง 2 รุ่น พัฒนาโดย สถาบันผลิตภัณฑ์ชีววิทยาอู่ฮั่น กับ สถาบันผลิตภัณฑ์ชีววิทยาปักกิ่ง โดยการทดสอบเฟสที่ 1 ควบ 2 ในจีนพบว่าวัคซีนสร้างสารภูมิคุ้มกันไวรัสในตัวอาสาสมัครได้

ซีโนฟาร์มเริ่มการทดสอบเฟส 3 ของวัคซีนทั้ง 2 รุ่นในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เมื่อเดือนกรกฎาคม มีอาสาสมัครร่วมในการทดสอบทั้ง 2 กลุ่มรวมกว่าแสนคน นอกจากนี้ยังมีการทดสอบในประเทศอื่นๆ อย่าง โมร็อกโก, เปรู และอาร์เจนตินา โดยวัคซีนทั้ง 2 รุ่นได้รับอนุญาตฉุกเฉินจาก ยูเออี ให้ใช้กับเจ้าหน้าที่การแพทย์ของพวกเขาได้


ซีโนแวค

กำลังทดสอบ : เฟส 3 / อนุมัติใช้อย่างจำกัดในจีน


บริษัท ซีโนแวค ไบโอแทค บริษัทยาเอกชนจีน กำลังพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาจากไวรัสที่ตายแล้ว โดยใช้ชื่อวัคซีนว่า ‘โคโรนาแวค’ (CoronaVac) พวกเขาทดสอบเฟสที่ 1 ควบ 2 ในเดือนมิถุนายนกับอาสาสมัคร 743 คน โดยพบว่าวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้ และไม่มีผลข้างเคียงร้ายแรง

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ซีโนแวคเริ่มการทดสอบเฟส 3 ในประเทศบราซิล ตามด้วยในอินโดนีเซีย และตุรกี แต่จนถึงตอนนี้พวกเขายังไม่เปิดเผยผลการทดสอบออกมา แต่ทางการบราซิลระบุในวันที่ 19 ต.ค. ว่า โคโรนาแวค เป็นวัคซีนโควิดที่ปลอดภัยที่สุด จากวัคซีนทั้งหมด 5 ชนิดที่มีการทดสอบเฟส 3 ในบราซิล

ตามรายงานของสำนักข่าว รอยเตอร์ โคโรนาแวค ได้รับการอนุมัติฉุกเฉินจากรัฐบาลจีนในเดือนกรกฎาคม ให้ใช้งานอย่างจำกัดได้ หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม หน่วยงานปกครองท้องถิ่นของเมืองซินเจียงก็ออกมายืนยันว่า พวกเขากำลังให้วัคซีน โคโรนาแวค กับคนทำงานที่มีความเสี่ยงสูงเช่น เจ้าหน้าที่การแพทย์, เจ้าหน้าที่ท่าเรือ และเจ้าหน้าที่บริการสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ซีโนแวคกำลังเตรียมการผลิตวัคซีนเพื่อแจกจ่ายไปทั่วโลก กลับเกิดกรณีอาสาสมัครได้รับผลกระทบระหว่างทดสอบในบราซิล ทำให้รัฐบาลบราซิลสั่งระงับการทดสอบในวันที่ 9 พ.ย. ท่ามกลางข้อสงสัยว่าเป็นคำสั่งที่มีเหตุผลทางการเมืองหรือไม่ เพราะประธานาธิบดี ชาอีร์ โบลโซนาโร ต่อต้านวัคซีนจากจีน และ 2 วันหลังจากนั้น โคโรนาแวค ก็ได้รับอนุญาตให้ทดสอบตามเดิม


บริษัท บารัต ไบโอเทค, สภาวิจัยการแพทย์อินเดีย และ สถาบันไวรัสวิทยาแห่งชาติ

กำลังทดสอบ : เฟส 3


บริษัท บารัต ไบโอเทค กับ สภาวิจัยการแพทย์ และ สถาบันไวรัสวิทยาแห่งชาติ ของอินเดีย ร่วมมือกันพัฒนาวัคซีนที่ชื่อว่า ‘โคแวกซิน’ จากไวรัสโคโรนาที่ตายแล้ว โดยผลการทดสอบในลิงกับหนูแฮมสเตอร์ พบว่า วัคซีนนี้สร้างภูมิคุ้มกันไวรัสโควิด-19 ได้

บริษัท บารัต เริ่มการทดสอบทางคลินิกกับมนุษย์ในเดือนกรกฎาคม และคาดว่าวัคซีนจะพร้อมในวันที่ 15 ส.ค. แต่ในเวลาต่อมา ซีอีโอของบารัตก็ออกมายอมรับกับสื่อว่า วัคซีนจะไม่พร้อมก่อนต้นปี 2564 โดยพวกเขาประกาศเริ่มการทดสอบเฟส 3 ไปเมื่อ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา



ผู้เขียน: H2O

ที่มา: BBC, Reuters , NewyorkTimes